555-002คำกริยา(รายวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชานวัตกรรม อ.ปาวีณา ฉ่ำกิ่ง)


ผู้สอน
วิภาดา เพชรอินทร์
เข้าสู่ระบบเมื่อ มากกว่า 7 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
555-002คำกริยา(รายวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชานวัตกรรม อ.ปาวีณา ฉ่ำกิ่ง)

รหัสวิชา
21700

สถานศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

คำอธิบายวิชา

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 คำกริยา...สื่ออาการ

คำกริยาคือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ

หน้าที่ของคำกริยา มีดังนี้

1.ทำหน้าที่เป็นกริยาสำคัญของประโยค เช่น คนกินข้าว นกบินมาเป็นฝูง เป็นต้น
2.ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น กินมากทำให้อ้วน เป็นต้น
3.ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น ฉันชอบเต้นแอร์โรบิกตอนเช้า เป็นต้น
4.ทำหน้าที่ช่วยขยายกริยาสำคัญให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น พี่คงจะกลับบ้านเย็นนี้ เป็นต้น
5.ทำหน้าที่ช่วยขยายคำนามให้เข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ฉันชอบกินก๋วยเตี๋ยวผัด น้องชายชอบบะหมี่แห้ง เป็นต้น

คำกริยา แบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ

1. สกรรมกริยา
2. อกรรมกริยา
3. วิกตรรถกริยา
4. กริยาอนุเคราะห์

1. สกรรมกริยาคือคำกริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ จึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น

แม่ค้าขายผลไม้
น้องตัดกระดาษ
ฉันเห็นงูเห่า
พ่อซื้อของเล่นมาให้น้อง
ฉัน กิน ข้าว
เขา เห็น นก

2. อกรรมกริยาคือคำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความหมายสมบูรณ์ ชัดเจนในตัวเอง เช่น

ครูยืน
น้องนั่งบนเก้าอี้
ฝนตกหนัก
เด็กๆหัวเราะ
คุณลุงกำลังนอน
เขานั่ง เขายืนอยู่

3. วิกตรรถกริยาคือคำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ คำที่มารับนั้นไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนเติมเต็มหรือมาช่วยขยายความหมายให้สมบูรณ์ คำกริยาพวกนี้ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ เสมือน ดุจ เช่น

ผม เป็น นักเรียน
ลูกคนนี้ คล้าย พ่อ
เขาคือ ครูของฉันเอง
รองเท้า 2 คู่นี้เหมือนกัน
ชายของฉันเป็นตำรวจ
เธอคือนักแสดงที่ยิ่งใหญ่
ลูกดุจแก้วตาของพ่อแม่
แมวคล้ายเสือ

4. กริยาอนุเคราะห์หรือ กริยาช่วย เป็นคำที่เติมหน้าคำกริยาหลักในประโยคเพื่อช่วยขยายความหมายของคำกริยาสำคัญ เป็นกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาให้มีความหมายชัดเจนขึ้น ได้แก่ จง กำลัง ได้ แล้ว ต้อง อย่า จง โปรด ช่วย ควร คงจะ อาจจะ จะ ย่อม คง ยัง ถูก เถอะ เทอญ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

นายแดง จะไป โรงเรียน
เขา ได้รับ คำชม
เธอ รีบ ไปเถอะ
เขาไปแล้ว
โปรดฟังทางนี้

ข้อสังเกตกริยาคำว่า ถูก ตามปกติจะใช้กับกริยาที่มีความหมายไปในทางไม่ดี เช่น ถูกตี ถูกดุ ถูกตำหนิ ถ้าความหมายในทางดีอาจใช้คำว่า ได้รับ เช่น ได้รับคำชมเชย ได้รับเชิญ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี กริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม (กริยาสภาวมาลา) เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นกรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น

เขาชอบออกกำลังกาย (ออกกำลังกายเป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม เป็นกรรมของประโยค)
กินมากทำให้อ้วน (กินมากเป็นกริยาที่ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
นอนเป็นการพักผ่อนที่ดี (นอนเป็นกริยาทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)

ที่มา http://guru.sanook.com/8540/






คำกริยา...สื่ออาการ

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 คำกริยา...สื่ออาการ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เรื่อง คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา)

เวลา 1 ชั่วโมง

สาระสำคัญ / ความคิดรวบยอด

คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็มเป็นกริยาที่ไม่มีเนื้อความในตนเองจะใช้เป็นกริยาตามลำพังไม่ได้

ตัวชี้วัด / จุดประสงค์การเรียนรู้

มฐ.ท ๔.๑ ป. ๖/๑ วิเคราะห์ชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค

จุดประสงค์การเรียนรู้สู่ตัวชี้วัด

๑. อธิบายลักษณะคำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม (K)

๒. แต่งประโยคโดยใช้คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม (P)

๓. เห็นความสำคัญของการใช้คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม (A)

สาระการเรียนรู้

๑. ความรู้

คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม

๒. ทักษะ/กระบวนการ/กระบวนการคิด

การให้เหตุผล การสรุปความรู้ การประเมินค่า

๓. คุณลักษณะอันพึงประสงค์

มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย

กิจกรรมการเรียนรู้

๑. ครูพาเล่นเกมไซม่อนเซ

ดังนี้ ถ้าครูเอ่ยคำว่าไซม่อนเซต่อด้วยคำกริยาให้ทุกคนทำตาม แต่ถ้าไม่มีคำว่า

ไซม่อนเซให้ยืนนิ่งๆไม่ต้องทำตาม

ตัวอย่าง ไซม่อนเซนั่ง ไซม่อนเซยืน ไซม่อนเซเดินหนึ่งก้าว วิ่ง (ไม่ต้องทำเพราะไม่มีไซม่อนเซ)

ครูอาจใช้คำอกรรมกริยาที่มีไซม่อนเซ และคำสกรรมกริยาไม่มีไซม่อนเซ สลับไปมาและควรเล่นให้เร็วๆ

๒. ให้นักเรียนสังเกตคำกริยาที่ครูใช้ว่าเป็นคำชนิดใดให้นักเรียนช่วยกันอธิบายและยกตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คำกริยาและคำวิกตรรถกริยา

๓. ครูให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมุติเรื่อง ทหารเอกของพระราชา ครูแจกบัตรคำให้นักเรียนที่เป็นอาสาสมัครดังนี้ ทหาร ชาวนา

ทหารคนที่๑, ๒, ๓ (พูดพร้อมกัน)

พวกเราคือทหารของพระราชา คอยปกป้องราชบัลลังก์ และประเทศชาติ (ยกแถบประโยคพวกเราคือ ทหารของพระราชา)

ชาวนา

ข้าคือชาวนา (ยกแถบประโยค) ทำนาอยู่ที่ชานพระนคร ได้ข่าวข้าศึกยกทัพมาประชิดเมือง ข้าจะมาสมัครเป็นทหารเพื่อปกป้องประเทศชาติ และราชบัลลังก์ กษัตริย์ของเราเป็นผู้มีบารมี แผ่ไพศาลประดุจขุนเขา และแม่น้ำอันกว้างใหญ่

(ยกแถบประโยคประดุจขุนเขา และแม่น้ำอันกว้างใหญ่)

ทหาร แต่ลักษณะท่าทางของท่านคล้ายโจร(ยกแถบประโยค) จะให้เราเชื่อท่านได้อย่างไรว่าไม่ใช่ศัตรูปลอมตัวมาเป็นไส้ศึก

ชาวนา ข้ามีพยาน นี่คือครอบครัวของข้า คนนั้นเป็นน้องสาวหน้าตาเหมือนแม่มากกว่าเหมือนข้า

คนที่อ้วนเหมือนหมู คือลูกชายคนเล็ก (ยกแถบประโยค)

ส่วนลูกชายคนโตตัวสูงใหญ่เหมือนลำไผ่อยู่เฝ้าบ้าน (ยกแถบประโยค)

ทหาร พวกข้าประชุมกันก่อน พรุ่งนี้มาฟังข่าวว่าจะรับเป็นทหารหรือไม่

๔.ให้นักเรียนสังเกตคำในแถบประโยคช่วยกันหาคำที่เป็นกริยา และช่วยกันหาคำที่เป็นกรรมว่ามีหรือไม่ จากแถบประโยคเดิม แล้วให้ครูนำมาติดที่กระดาน และติดคำที่เป็นส่วนที่ขยายไว้ ดังนี้

พวกเราคือ............... ข้าคือ....................... บารมีแผ่ไพศาลประดุจ...............................

ลักษณะท่าทางของท่านคล้าย........................... อ้วนเหมือน....................................

สูงใหญ่เหมือน.................................................

๕. ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปคำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็มหรือวิกตรรถกริยา เป็นกริยาที่ไม่มีเนื้อความในตนเองจะใช้เป็นกริยาตามลำพังไม่ได้จะต้องมีคำนาม สรรพนาม หรือคำวิเศษณ์มาขยายจึงจะได้ใจความที่สมบูรณ์ ได้แก่คำว่า คือ เหมือน คล้าย เท่า ดุจ ประดุจ เปรียบเสมือน ฯลฯ

๖. ครูแบ่งนักเรียนออกเป็น ๕ กลุ่ม ทำกิจกรรมทบทวนความรู้โดยการส่งตัวแทนออกมาเขียนประโยค

ที่ช่วยกันแต่งโดยมีคำที่ครูกำหนดให้อยู่ในเนื้อเรื่อง ดังนี้

๑. เดิน...........เหมือน ๒. ครู.............คือ

๓. พระมหากษัตริย์ไทย...............เปรียบเสมือน

๔. วิ่ง...........ลมพัด ๕. ปลอดภัย.............เท่ากับ

ให้นักเรียนทั้งชั้นช่วยกันตรวจสอบผลงานและประเมินผลงาน

๗. ให้นักเรียนแต่งประโยคบรรยายตนเองโดยใช้คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็ม จากนั้นให้ออกมาเล่าให้เพื่อนฟัง และร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องพร้อมกับเลือกประโยคที่มีการบรรยายได้แปลกที่สุด

๘. ให้นักเรียนร่วมกันสรุปความรู้ดังนี้ คำกริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็มเป็นกริยาที่ไม่มีเนื้อความ

ในตนเองจะใช้เป็นกริยาตามลำพังไม่ได้

๙. ให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยครูใช้คำถามท้าทาย ดังนี้

๏ ใครหนอรักเราเท่าชีวีมีความหมายว่าอย่างไร

การวัดผลและประเมินผล

๑. วิธีการวัดและประเมินผล

๑.๑ สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรม

๑.๒ สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม

๒. เครื่องมือ

๒.๑ แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม

๒.๒ แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม

๓. เกณฑ์การประเมิน

๓.๑ การประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม

ผ่านตั้งแต่ ๒ รายการ ถือว่า ผ่าน

ผ่าน ๑ รายการ ถือว่า ไม่ผ่าน

๓.๒ การประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม

คะแนน ๙ - ๑๐ ระดับ ดีมาก

คะแนน ๗ - ๘ ระดับ ดี

คะแนน ๕ - ๖ ระดับ พอใช้

คะแนน ๐ - ๔ ระดับ ควรปรับปรุง

สื่อ / แหล่งการเรียนรู้

บัตรคำ


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books