การผลิตหนังสืออ่านประกอบ


ผู้สอน
นาย อิทธิพล พลายเปีย
เข้าสู่ระบบเมื่อ มากกว่า 12 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
การผลิตหนังสืออ่านประกอบ

รหัสวิชา
287

สถานศึกษา
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี

คำอธิบายวิชา

หนังสืออ่านเพิ่มเติม (Supplementary Reader ) แต่เดิมเรียกว่า หนังสืออ่านประกอบ         

( วัชราภรณ์ วัตรสุข ,2541: 46)  หมายถึงหนังสือที่มีสาระอิงหลักสูตร สำหรับให้นักเรียนอ่านเพิ่มเติมด้วยตนเองตามความเหมาะสมของวัยและความสามารถในการอ่านของบุคคล(ถวัลย์ มาศจรัส , 2538: 20) หนังสืออ่านเพิ่มเติมไม่ใช่หนังสือแบบเรียนบังคับใช้ แต่ถือเป็นสื่อการเรียนการสอนชนิดหนึ่งที่จัดทำขึ้น เพื่อช่วยขยายประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนให้กว้างขึ้นซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของบันลือ พฤกษะวัน (2521: 58) ที่กล่าวไว้ว่าเป็นวัสดุการอ่านประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเรียน แต่เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่เด็กสามารถเลือกอ่านได้ทั้งในและนอกเวลาเรียน นักเรียนอาจใช้ได้ในหลายลักษณะ เช่น อ่านเพื่อค้นคว้าหาคำตอบ อ่านเพื่อขยายประสบการณ์ให้ลึกซึ้งเฉพาะเรื่องอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

จึงพอสรุปได้ว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นเสริมเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตร มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของนักเรียน

ส่วนหลักการการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมนั้น จินตนา ใบกาซูยี (2538: 52-65) กล่าวถึงขั้นตอนการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมไว้ดังนี้

  1. กำหนดจุดประสงค์

ในการเขียนใด ๆ ผู้เขียนต้องตั้งจุดประสงค์เพื่อต้องการว่าจะเขียนอะไร ต้องการให้

ผู้อ่านได้รับความรู้ ความคิด ทักษะ และคุณประโยชน์อย่างไร การกำหนดจุดประสงค์ไว้ก่อนการเขียน

เป็นการกำหนดทิศทางไม่ให้เขียนหลงทาง หรือเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ต้องการจะเขียนในเบื้องต้น จุดประสงค์จึงเป็นเสมือนเครื่องกำกับผู้เขียนผู้เขียน อีกทางหนึ่ง

2.  กำหนดระดับผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย

ผู้เขียนต้องรู้ว่าผู้อ่านของตนคือใคร มีคุณสมบัติ มีวัยวุฒิ ระดับสติปัญญา ความรู้และ

ประสบการณ์เดิมขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ต้องการใช้ประกอบการเรียนการสอน คุณสมบัติของผู้ใช้หนังสือ จะต้องนำมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการวางแผนการเขียนและกำหนดขอบเขตการเขียนของตน โดยทั่วไปแล้วการแบ่งกลุ่มผู้อ่าน  สามารถแบ่งได้ดังนี้

2.1 กลุ่มนักวิชาการ ครู อาจารย์ และปัญญาชน ซึ่งมีความสามารถในการอ่านได้สูงมาก

2.2 กลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน

2.3 กลุ่มผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้ที่มีอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไปสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

3. กำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่อง

ในการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่อง ให้เขียนในสิ่งที่ตนเองรู้แจ้ง และเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงพึงหลีกเลี่ยงการเขียนในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ไม่ชำนาญ เพราะอาจเกิดปัญหาจนการเขียนต้องหยุดชะงัก

ลงได้ แหล่งที่จะคัดเลือกเนื้อหาสำหรับนำมาใช้ในการเขียน ได้แก่

3.1 หลักสูตรสถานศึกษา

3.2 สิ่งแวดล้อมในสังคม และสภาพท้องถิ่น

3.3 ความสนใจและความต้องการของเด็กตามวัย

4. กำหนดชื่อเรื่อง

ผู้เขียนควรกำหนดชื่อเรื่องหนังสือที่ตนจะเขียนไว้ก่อนล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้เพราะ

การกำหนดชื่อเรื่องนั้นจะเกี่ยวพันโยงไปถึงหัวข้อเรื่องที่จะเขียนและขอบข่ายเนื้อหาที่กำหนดไว้ในโครงสร้าง หลักการที่สำคัญ คือ ชื่อเรื่องควรสอดคล้องกับหัวเรื่อง และโครงสร้างเนื้อหาเพื่อว่าเมื่อผู้อ่านเห็นชื่อเรื่องก็สามารถคาดคะเนได้ว่า เนื้อหาภายในเป็นเรื่องอะไร

5. กำหนดโครงสร้างเนื้อหา

โครงสร้างเนื้อหา คือ การกำหนดขอบเขตเนื้อหาของหนังสือที่จะเขียนให้มีระบบตามลำดับความคิดหรือตามวัตถุประสงค์ของการเขียนหลักการและทฤษฎีหรือความรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ ที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอให้ผู้อ่าน อ่านอย่างเข้าใจที่สุด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ขอบเขตของเนื้อหาที่ผู้เขียนจะนำเสนอให้ผู้อ่านนั้นจะต้องมีการจัดระบบเนื้อหาไว้อย่างรัดกุมเพื่อจะได้ครอบคลุมขอบข่ายเนื้อหาที่จะเขียนทั้งหมดตามจุดประสงค์ที่วางเอาไว้ ในการกำหนดโครงสร้างเนื้อหาของหนังสือที่จะเขียน จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางวิชาการเป็นรากฐานสำคัญที่สุด ศาสตร์ความรู้วิชาสาขาใดมักจะมีโครงสร้างเนื้อหาเฉพาะตัว ถ้าผู้เขียนเสนอสาระไปตามลำดับขั้นตอนอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้อ่านเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่อ่านได้ง่าย

6. กำหนดแนวการเขียน

แนวการเขียนหรือบางทีเรียกว่าท่วงทำนองการเขียนโวหาร หรือการเสนอเนื้อหาของ

การเขียนข้อความต่าง ๆ นั้น หมายถึง วิธีการเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อหาเรื่อง จนผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจได้ดีถึงสาระที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อในข้อความนั้น ๆ แนวการเขียนมีหลายแบบ การเลือกแนวการเขียนให้เหมาะสมกับเนื้อหาของข้อความ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลกระทบและมีอิทธิพลต่อความเข้าใจเรื่องที่อ่าน หรือความรู้และความคิดของผู้อ่านเป็นอันมาก

7. การทำรูปเล่ม

การทำรูปเล่ม  หมายถึง ลักษณะรูปร่างและขนาดกระดาษและขนาดตัวหนังสือหรือ

ตัวพิมพ์ลักษณะและขนาดของรูปเล่มควรมีขนาดพอเหมาะหยิบถือได้สะดวก ความหนาของหนังสือขึ้นอยู่กับระดับอายุของผู้อ่าน หนังสือที่มีเนื้อเรื่องยาวมากควรแบ่งออกเป็นหลายเล่มโดยจบเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจบในตัวเอง ขนาดรูปเล่มถือเอาความกะทัดรัดเปิดอ่านง่ายเป็นเกณฑ์

ดังนั้นสรุปได้ว่า ในการสร้างหนังสือที่ดี มีคุณค่าสำหรับเด็กนั้นควรมีโครงเรื่องเหมาะสมสนองความต้องการและความสนใจของเด็ก ใช้ภาษาเข้าใจง่าย มีรูปภาพ ตัวอักษร ตลอดจนรูปเล่มและชื่อเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ น่าอ่านชวนติดตาม ตลอดจนจูงใจให้เด็กรักการอ่านยิ่งขึ้น


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books