สุขศึกษา ม.4 ระบบโครงสร้างร่างกาย


ผู้สอน
นาย พีระ จันเหลือง
เข้าสู่ระบบเมื่อ เกือบ 12 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
สุขศึกษา ม.4 ระบบโครงสร้างร่างกาย

รหัสวิชา
3328

สถานศึกษา
โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา

คำอธิบายวิชา

ระบบผิวหนัง โดย นายแพทย์วิเชียร ดิลกสัมพันธ์ และนายแพทย์ชูศักดิ์ เวชแพศย์


          ผิวหนังปกคลุมห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด ซึ่งภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมาย เพื่อรับรู้การสัมผัส การกดความเจ็บ และอุณหภูมิร้อนเย็น ระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อและไขมันด้วย
          ผิวหนังยืดหยุ่นได้มาก บนผิวของหนังมีรูเล็กๆ อยู่ทั่วไป รูเล็กๆ นี้ เป็นรูเปิดของขุมขน ท่อของต่อมไขมัน และ
ต่อมเหงื่อ ผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามีรอยนูนเป็นสันจำนวนมาก  โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวายหรือก้นหอย จึงใช้รอยพิมพ์ปลายนิ้วมือเป็นประโยชน์ในการแยกหรือทำนายบุคคลได้โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากรายละเอียดในการเรียงตัวของรอยนูนนี้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล 
          บริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ ผิวหนังจะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือบริเวณใบหน้า มีกล้ามเนื้อมายึดติดที่หนังมาก จึงทำให้เกิดรอยย่น ซึ่งแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือเศร้าหมองได้

          ส่วนใหญ่ของร่างกาย ผิวหนังจะเลื่อนไปเลื่อนมาได้แต่บางแห่งก็ติดแน่นกับอวัยวะภายใต้ เช่น หนังศีรษะ ด้านนอกของใบหู ฝ่ามือและฝ่าเท้า และตามรอยพับของข้อต่อต่างๆ

          ผิวหนังประกอบด้วย ๒ ส่วน
         
๑. ชั้นตื้น เรียกว่า หนังกำพร้า (epidermis)
          ๒. ชั้นลึก เรียกว่า หนังแท้ (dermis)

หนังกำพร้า
          คลุมอยู่บนหนังแท้ ความหนาของหนังกำพร้าแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หนาตั้งแต่ ๐.๓ ถึง ๑ มิลลิเมตร  หนังกำพร้าที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนาที่สุด และบางที่สุดที่หนังตาชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือดเลยและประกอบด้วยเซลล์รูปร่างต่างๆ กันหลายชั้น ชั้นตื้นที่สุดที่ผิวเป็นเซลล์แบนๆ และตายแล้วจะลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคล

หนังแท้
          ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมา ส่วนตื้นของชั้นนี้ยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้า ในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือดและปลายประสาทรับความรู้สึก ส่วนลึกของหนังแท้จะมีแต่เส้นใยพังผืดประสานกันค่อนข้างแน่น ความยืดหยุ่นของผิวหนังที่อยู่เส้นใยพังผืดและเนื้อเยื่อใต้หนัง ในคนชรา เส้นใยพังผืดยึดหยุ่นลดน้อยลง
จึงเกิดเป็นรอยย่น หย่อนยาน

          หนังสัตว์ที่นำมาทำเป็นรองเท้า กระเป๋านั้น ก็คือส่วนของหนังแท้นั่นเอง ซึ่งเหนียว หนา และทนทาน
          สีของผิวหนัง เกิดจากจำนวนเม็ดสีเมลานิน (melaninซึ่งอยู่ในเซลล์ชั้นลึกของหนังกำพร้า ถ้าเม็ดสีเมลานินมีมากก็มีผิวดำ ถ้าเม็ดสีเมลานินมีน้อยก็มีผิวขาว ในที่บางแห่งผิวหนังมีสีจัดขึ้น เช่น ที่บริเวณหัวนม ลานหัวนม รอบๆ ทวารหนักและผิวหนังที่ถูกแสงแดดอยู่เสมอ สีของผิวหนังจึงอาจใช้แบ่งแยกเชื้อชาติได้ เช่น พวกนิโกร มีเม็ดสีเมลานินมากตลอดความหนาของหนังกำพร้า ผิวจึงดำมาก พวกยุโรปมีเม็ดสีเมลานินน้อยผิวจึงขาว และพวกเอเชียมีเม็ดสีเมลานินปานกลางผิวจึงเหลือง โดยเฉพาะพวกสืบเชื้อสายชาวมองโกเลียผิวหนังรอบๆ ทวารหนักจะมีสีดำหรือเขียวมากกว่าส่วนอื่นๆของร่างกาย
          สีของผิวหนัง นอกจากจะเกิดจากเม็ดสีเมลานินแล้วยังเกิดจากสีของเลือดในหนังแท้ด้วย ซึ่งทำให้ผิวมีสีชมพูจัดในคนที่มีเลือดสมบูรณ์ดี และทำให้ผิวซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนั้นยังขึ้นกับความหนาของผิวหนังด้วย จะเห็นได้ในเด็กทารก มีผิวหนังบางจึงมีผิวสีชมพู


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books