อนุบาล 1


ผู้สอน
Tanyawan ธัญวรรณ สมนาค
เข้าสู่ระบบเมื่อ ประมาณ 11 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
อนุบาล 1

รหัสวิชา
6579

สถานศึกษา
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

คำอธิบายวิชา

หน่วย สัตว์

การสอนเรื่องสัตว์มีความสำคัญอย่างไร?

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้หน่วยสัตว์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้รู้จักสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น สัตว์เลี้ยงไว้ดูเล่น สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน สัตว์บก สัตว์น้ำ ลักษณะของสัตว์ ประโยชน์ของสัตว์ การเลี้ยงดูและให้อาหารสัตว์ การอนุรักษ์สัตว์ ที่อยู่อาศัย และการดำรงชีวิตของสัตว์ นอกเหนือจากเด็กจะได้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสัตว์แล้ว การเรียนรู้หน่วยสัตว์ มีจุด มุ่งหมายสำคัญเพื่อบูรณาการการเรียนรู้ให้เด็กได้พัฒนาทางด้านอารมณ์ จิตใจในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การมีคุณ ธรรม จริยธรรม การมีความเมตตา กรุณาต่อสัตว์ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการด้านอื่นๆได้ทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย จากการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง พัฒนาการทางด้านสังคมจากการเล่นและทำงานเป็นกลุ่มในกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมการเล่นตามมุม กิจกรรมการเล่นเกมต่างๆ การพัฒนาทางด้านสติปัญญาจากกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะทาง ด้านคณิตศาสตร์ จากการสังเกตลักษณะของสัตว์ การนับจำนวนสัตว์ การจำแนกเปรียบเทียบประเภทสัตว์ จึงเห็นได้ว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ทำให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาไปพร้อมๆกัน

การสอนเรื่องสัตว์มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร?

การสอนเรื่องสัตว์ให้แก่เด็กปฐมวัย จะเกิดประโยชน์ต่อเด็กในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ด้านร่างกาย เด็กจะได้เคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ เลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่างๆ ได้ออกกำลังกายกลางแจ้งผ่านเกมการละเล่นเกี่ยวกับสัตว์ เช่น แม่งู ลิงชิงบอล วิ่งเปี้ยว เป็นต้น
  • ด้านอารมณ์ จิตใจ เด็กจะได้ทดลองให้อาหารสัตว์ เล่าถึงสัตว์เลี้ยงของตนเอง เป็นการปลูกฝังความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำ ใจ เมตตากรุณาต่อสัตว์ และการฟังนิทานเกี่ยวกับสัตว์อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เช่น นิทานอีสป
  • ด้านสังคม เด็กจะเรียนรู้การทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์
  • ด้านสติปัญญา เด็กจะได้รู้จักการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดต่างๆ อาหารของสัตว์ ลักษณะประเภทของสัตว์ต่างๆ

ครูสอนเรื่องสัตว์ให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?

การสอนหรือการจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยรู้จักสัตว์ ครูจะจัดเป็นหน่วย และกำหนดหัวเรื่องในการเรียนรู้ โดยบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ต่างๆ กล่าวคือ การเรียนรู้หน่วยสัตว์ ทำให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย สังคม และสติปัญญา ทำให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวมโดยผ่านกิจกรรมประจำวันในแต่ละวันดังนี้

  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้เด็กได้สร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับสัตว์ด้วยวิธีต่างๆ เช่น อภิปราย การสาธิต การทดลอง บทบาทสมมติ การร้องเพลง การศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น โดยครูอาจเริ่มกิจกรรมด้วยสนทนาพูดคุยเกี่ยวกับสัตว์ที่เด็กรู้จัก สัตว์ที่เด็กเลี้ยงไว้ที่บ้านว่ามีอะไรบ้าง เปิดอกาสให้เด็กได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงไว้ที่บ้านให้เพื่อนและครูฟัง เช่น ชื่อสัตว์ ลักษณะของสัตว์ วิธีการเลี้ยง การให้อาหาร เป็นต้น อาจเล่านิทานที่เกี่ยวกับสัตว์ที่เด็กรู้จัก หรือนิทานที่ตัวละครเป็นสัตว์ซึ่งมีพฤติกรรมที่มุ่งสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม และลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น ลูกหมีมีวินัย ลูกหมาน่ารัก ลูกไก่ใจกล้า เป็นต้น นอกจากนี้การพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่เพื่อให้เด็กได้รู้จักการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดต่างๆ อาทิ การไปเที่ยวสวนสัตว์ เด็กจะได้ขยายประสบการณ์เกี่ยวกับสัตว์มากขึ้น ได้เห็นความเป็นอยู่ของสัตว์ อาหารของสัตว์ ประเภทของสัตว์ต่างๆ เด็กจะมีโอกาสได้สัมผัสกับสัตว์จริงๆที่มีนิสัยไม่ดุร้าย การให้อาหารสัตว์ต่างๆ เป็นต้น การที่เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสัตว์ ย่อมทำให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อสัตว์และมีความตระหนักต่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ต่อไปด้วย
  • กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ การเคลื่อนไหวประกอบการแสดงท่าทางสัตว์ โดยใช้หน้ากากรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ให้เด็กเคลื่อนไหวแสดงท่าทางสัตว์ชนิดที่ตนเองได้รับตามจังหวะเพลง ครูอาจจัดกิจกรรมที่เริ่มจากการร้องเพลง เช่น เพลงเลี้ยงลูกแมว “ลูกแมว 5 ตัวที่ครูเลี้ยงไว้ น้อง (ชื่อเล่นเด็ก) ขอให้แบ่งไป 1 หนึ่งตัว ลูกแมว 5 ตัว ก็เหลือน้อยลงไป นับดูใหม่เหลือลูกแมว 4 ตัว” ให้ครูพูดถึงชื่อเด็กในห้องจากเพลงนี้ไปเรื่อยๆ ให้เด็กได้รู้จักการนับจำนวนลดลง หรือพูดคำคล้องจอง เช่น “เจ้าแมลงตัวเล็ก เด็กน้อยเคยเห็น มีหนวดสองเส้น มีขาหกขา” “ก้าบ ก้าบ ก้าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง ตาก็จ้องแลมอง เพราะในคลองมีหอย ปู ปลา” เป็นต้น
  • กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่เด็กได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมการวาดภาพ การระบายสี งานกระดาษ การประดิษฐ์ งานประติมากรรม เช่น การฉีกปะติดกระดาษเป็นรูปสัตว์เลี้ยง การประดิษฐ์รูปสัตว์ต่างๆจากวัสดุเหลือใช้ การปั้น หรือการพับกระดาษเป็นรูปสัตว์ เป็นต้น
  • กิจกรรมเสรี เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ตามความสนใจ โดยครูจัดมุมนิทานเกี่ยวกับสัตว์ให้เด็กเข้าไปอ่าน การจัดโรงหุ่นที่มีหุ่นมือ หุ่นถุงกระดาษ หุ่นนิ้วมือที่เป็นรูปสัตว์ ให้เด็กได้ร่วมกันเชิดหุ่นตามจินตนาการ และให้เด็กสร้างเรื่องราวด้วยตนเอง การจัดมุมวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดให้มีตู้ปลา การเลี้ยงปลาสวยงาม ให้เด็กได้ให้อาหารปลา ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักที่จะมีความเมตตา เอื้อเฟื้อต่อสัตว์ได้
  • กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ใช้ทักษะในการเคลื่อนไหว และควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงการทรงตัว เช่น เกมช้างน้อย ครูจะแบ่งเด็กออกเป็น 2 ทีม จำนวนเท่ากัน กำหนดจุดเริ่มต้นและจุดปลายทางให้มีระยะห่างเท่าๆกัน กำหนดให้ผู้เล่นแต่ละคนเป็นช้างและทำท่าทางคลานเป็นช้าง เมื่อได้ยินสัญญาณให้ผู้เล่นคนแรกของแต่ละทีมคลานช้างไปยังจุดหมายและรีบคลานกลับมาเพื่อสัมผัสมือคนที่สองให้คลานต่อไป ทีมใดคลานช้างครบทุกคนก่อนเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งครูอาจเปลี่ยนจากการคลานช้างเป็นสัตว์ชนิดอื่นๆได้ เช่น กระต่าย กบ เป็ด ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้รู้จักสัตว์มากขึ้น
  • เกมการศึกษา ครูอาจจัดกิจกรรมการเล่นเกมเพื่อให้เด็กรู้จักสัตว์ โดยเน้นเกมการเล่นที่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระ หว่างกัน เช่น เกมลูกแมวหาเพื่อน อุปกรณ์ที่ใช้ในเกมนี้ได้แก่ ภาพแมวที่มีรูปร่างและสีเดียวกันเป็นคู่ๆ เทปเพลง นกหวีด วิธีการเล่นเริ่มจากให้เด็กเข้าแถวตอน 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน แจกบัตรภาพแมวให้เด็กแถวละพวก จากนั้นครูเปิดเทปให้เด็กรำวงไปรอบๆ เมื่อได้ยินสัญญาณนกหวีดให้เด็กที่มีภาพแมวที่มีสีและรูปร่างเหมือนกันจับคู่และนั่งลง ถ้าคู่ใดจับคู่ได้ช้าที่สุด ครูให้เด็กคู่นั้นออกมาแสดงอะไรก็ได้ก่อนเข้าไปนั่งกับเพื่อน นอกจากนี้ครูอาจทำเกมภาพตัดต่อสัตว์ชนิดต่างๆ เกมจับคู่ภาพสัตว์กับบัตรคำ เกมการเรียงลำดับเหตุการณ์ เกมการเรียงลำดับวงจรชีวิตสัตว์ ฯลฯ ไว้ให้เด็กเล่นเพิ่มเติมตามความสนใจ

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะสอนลูกเรื่องสัตว์ได้อย่างไร?

พ่อแม่สามารถพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ของลูกเกี่ยวกับสัตว์จากที่โรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง เช่น การเลี้ยงสัตว์ไว้ที่บ้าน การพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ การให้ลูกได้ดูรายการสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ในรายการโทรทัศน์ จัดให้มีภาพสัตว์ที่น่ารักติดไว้ในห้อง นอนของลูก การเล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์ให้ลูกฟัง การปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยง เช่น การให้อาหารและการดูแลสุขภาพของสัตว์ เป็นต้น และเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในด้านคุณธรรมและจริยธรรม พ่อแม่ควรให้การเสริมแรงทันทีด้วยการกล่าวคำชมเชย แสดงสีหน้า ท่าทาง การใช้น้ำเสียง และการสัมผัสเด็กที่นุ่มนวล เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ชื่นใจและพอใจในการกระทำของเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงในการส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้เรื่องสัตว์คือ การที่มีพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเภทที่ต้องนำมากักขัง หรือการทำทารุณกรรมสัตว์ให้ลูกเห็น เช่น การขังนก สุนัข กระต่าย เนื่องจากพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะนี้ไม่ได้ช่วยส่งเสริมในเรื่องความมีเมตตา กรุณาต่อสัตว์ ซึ่งจะทำให้เด็กซึมซับการเรียนรู้และการปฏิบัติไปในทางที่ไม่ถูกต้อง


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books