ทำไมคนถึงเชื่อว่า... คนข้ามเพศถูกบังคับให้ตรงเพศได้ โดย อ.ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์


ผู้สอน
อาจารย์ ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์
เข้าสู่ระบบเมื่อ 40 นาที ที่แล้ว

ชื่อวิชา
ทำไมคนถึงเชื่อว่า... คนข้ามเพศถูกบังคับให้ตรงเพศได้ โดย อ.ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์

รหัสวิชา
74284

รหัสวิชาของสถานศึกษา
L007

สถานศึกษา
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย

คำอธิบายวิชา

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุปสรรคที่คนข้ามเพศต้องเผชิญนั้นมีมากมายอันเนื่องจากความเข้าใจผิดและอคติของสังคม ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่คนข้ามเพศต้องเผชิญอย่างน้อยสักครั้งคือการถูกบังคับให้แสดงออกตามเพศกำเนิดของตน อาทิ การบังคับตัดผม การใช้คำพูด การแต่งตัว เนื่องจากการสังคมที่ยึดถือในระบบสองเพศนั้นคิดว่าการแสดงออกควรต้องเป็นไปตามเพศกำเนิด นำมาซึ่งความเชื่อผิด ๆ ว่า สามารถบีบบังคับให้คนข้ามเพศต้องละทิ้งอัตลักษณ์ของตนและกลับมาแสดงออกตามเพศกำเนิดได้
ความเชื่อนี้คืออะไร
คือการที่สังคมเชื่อว่า หากทำการบังคับหรือกดดันให้คนข้ามเพศละทิ้งอัตลักษณ์ของตนแล้วปฏิบัติตนตามอัตลักษณ์ที่สังคมเห็นว่าสอดคล้องกับเพศกำเนิด คนข้ามเพศนั้นสามารถกลับมามีสำนึกในตัวตนที่ตรงกับเพศกำเนิดได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเชื่อว่าคนข้ามเพศเป็นสิ่งแปลกปลอม จำเป็นต้องมีการกระทำบางอย่างให้กลับมาเป็นปกติ การพยายามบีบบังคับเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า Conversion Therapy ที่เป็นโปรแกรมบำบัดคนที่ต้องสงสัยว่าจะมีสำนึกทางเพศที่แตกต่าง ส่วนมากจะได้รับความนิยมในชุมชนผู้เคร่งศาสนา กระบวนการดังกล่าวจะใช้วิธีการที่รุนแรงทั้งทางกายและทางใจ เช่น การจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมพร้อมกับพยายามปลูกฝังความเชื่อผิด ๆ , การใช้วาจาประทุษร้ายซ้ำ ๆ กระทั่งการบังคับแต่งงาน เพื่อให้เป้าหมายรู้สึกผิดต่อตนเองและคิดว่าการข้ามเพศนั้นเป็นความผิดปกติ
Matthew Scott Montgomery นักแสดงชื่อดังที่เคยฝากผลงานเอาไว้ในซีรีย์ดังหลายเรื่องเคยเปิดเผยต่อแฟน ๆ ผู้ติดตามของเขาในช่วงปีที่ผ่านมาผ่านรายการ podcast “Vulnerable” ถึงชีวิตวัยเด็กที่เขาต้องประสบเมื่อบอกกับครอบครัวว่าเป็นเกย์ “พวกเขาโมโหจนไม่ยอมพูดจาอะไร แม่ถึงกับเข่าทรุดเลย” จากนั้นพ่อของแมทธิวก็เชิญชวนกึ่งบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมบำบัดกับสถานที่แห่งหนึ่ง ที่นั่นแมทธิวต้องผ่านกระบวนการที่ลดทอนความเป็นมนุษย์มากมาย เช่น การสะกดจิตด้วยการกล่อมเกลาว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นทำให้คนรอบข้างเสียใจ การรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า “พวกเขาให้ผมนึกถึงสถานการณ์บางอย่าง เช่น การได้กอดกับผู้ชายหล่อ ๆ จากนั้นพวกเขาก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือผม” ซึ่งแมทธิวจะถูกบังคับให้เข้าร่วมการบำบัดดังกล่าวในทุกวันหยุดเมื่อเขาว่างเว้นจากการเรียนและงานแสดง แม้ว่าตัวแมทธิวจะเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายนั้นแล้ว แต่เขาก็ยังคงมีแผลใจที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
แต่บ่อยครั้งการบังคับก็เกิดจากสังคมด้วยเช่นกัน โดยมักจะเป็นในลักษณะของการตั้งเงื่อนไขเพื่อเป็นการบังคับทางอ้อมโดยอ้างถึงความเหมาะสมในการประพฤติตัว เช่น การทำงานที่มักจะตั้งเงื่อนไขว่าจำเป็นต้องแต่งกายและแสดงออกตามเพศกำเนิด โดยเฉพาะในงานที่คนเชื่อว่าจะต้องใช้บุคลิคที่น่าเชื่อถือ ต้องเป็นที่เคารพ หรือหน่วยงานราชการที่มีการกำหนดภายในองค์กรชัดเจนเกี่ยวกับเครื่องแบบที่มีการแบ่งตามเพศกำเนิด หนึ่งในกรณีที่เคยมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนั้น คือกรณีที่ผู้หญิงข้ามเพศซึ่งทำงานมา 6 ปีในตำแหน่งครูถูกข่มขู่เพื่อให้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบข้าราชการชาย จนผู้ร้องทุกข์มีอาการเซื่องซึมและหวาดระแวงจากการคุกคามนั้น แม้ในภายหลังจะมีการแก้ไขและเยียวยาผู้เสียหายแล้ว แต่นี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่มีการใช้เรื่องของความมั่นคงและหน้าที่การงานในการบังคับคนข้ามเพศ
แต่จริง ๆ แล้วเพศก็เปลี่ยนได้
หนึ่งในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับเพศที่ควรได้รับการพิจารณาเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ คือ เพศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว คนคนหนึ่งอาจค้นพบว่าตนเองมีเพศสภาพเป็นหญิงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นอาจจะค้นพบอีกครั้งว่าตนเองนั้นเป็นคนที่ไม่อยู่ในกล่องสองเพศหรือ non-binary สิ่งเหล่านี้มีนิยามว่า Genderfluid หรือความลื่นไหลทางเพศ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ แง่มุม ไม่จำกัดเพียงความรู้สึกถึงตัวตนเท่านั้น เช่น การมีความรู้สึกดึงดูดต่อเพศต่าง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่จำกัดตายตัวอยู่กับเพศสภาพ หรือการแสดงออกทางเพศที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้เป็นความปกติที่ร่างกายนั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ ได้
สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในเพศนั้น คือการที่คนคนนั้นต้องมีความรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงความต้องการนั้นด้วยตนเอง ทั้งจากจากการสำรวจตนเอง การรับรู้จากปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาในชีวิต โดยไม่เป็นการบังคับขู่เข็ญด้วยอคติที่มีต่อเพศที่แตกต่างหรือการพยายามปรับเปลี่ยนตัวตนของใคร เพราะการเลือกที่จะเชื่อและแสดงออกในตัวตนของตนเองนั้นเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่จะพรากไปไม่ได้ ตามหลักการ Self – Determination ดังนั้น ความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนโดยการบังคับ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามจึงถือเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น แน่นอนว่าในบางครั้งนั้นอาจจะสามารถทำให้เป้าหมายเปลี่ยนแปลงตนเองได้จริง แต่นั่นคือการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานจากความหวาดกลัวและการปกป้องตนเองเพียงเท่านั้น และยังคงทิ้งบาดแผลให้แก่ผู้ที่ถูกบังคับเอาไว้ด้วย จะดีกว่าไหมหากเราเปลี่ยนจากการบีบบังคับให้คน ๆ หนึ่งต้องเป็นในสิ่งอื่น ๆ ที่สร้างความอึดอัดใจ เป็นการศึกษาทำความเข้าใจถึงสิ่งที่คน ๆ หนึ่งเป็น และพร้อมโอบรับความหลากหลายให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง
โดย อ.ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2568)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย