พระพุทธศาสนา ป.6


ผู้สอน
พระพร อ่วมบุญ
เข้าสู่ระบบเมื่อ มากกว่า 6 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
พระพุทธศาสนา ป.6

รหัสวิชา
26754

สถานศึกษา
โรงเรียนศรีมหาโพธิ์ (ประชาสรรค์)

คำอธิบายวิชา

พระพุทธ

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ

             พระพุทธศาสนานั้น เราถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทย  การถืออย่างนี้เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาโดยถูกต้องตามสมควรแก่เหตุ คือการที่พระพุทธศาสนากับชนชาติไทยได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

          ในทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยเกี่ยวเนื่องมาด้วยกันกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน ชาวไทยก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันมา จนกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

          ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันประสานกลมกลืนกับหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาตลอดเวลาอันยาวนาน จนทำให้เกิดการปรับตัวเข้าหากันและสนองความต้องการของกันและกันตลอดจนผสมคลุกเคล้ากับความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่น ๆ ถึงขั้นที่ทำให้เกิดมีระบบความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เป็นแบบของไทยโดยเฉพาะ อันมีรูปลักษณะและและเนื้อหาของตนเองที่เน้นเด่นบางแง่บางด้านเป็นพิเศษ

          แยกออกได้จากพระพุทธศาสนาอย่างทั่ว ๆ ไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาถ้อยคำมากมายในภาษาไทยมีต้นกำเนิดมาจากภาษาบาลี และมีความหมายที่สืบเนื่อง ปรับแปรหรือเพี้ยนมาจากคติในพระพุทธศาสนา แบบแผนและครรลองตามหลักการของพระพุทธศาสนา ได้รับการยึดถือเป็นแนวทางและเป็นมาตรฐานสำหรับความประพฤติ การบำเพ็ญหน้าที่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยทุกระดับ  ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศ และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน 

          คนไทยทั่วทั้งหมดแต่องค์พระเจ้าแผ่นดินลงมา  จนถึงผู้ชายชาวบ้านแทบทุกคน  ได้บวชเรียนและรับการศึกษาจากสถาบันพระพุทธศาสนา  ดังมีประเพณีบวชเรียนเป็นหลักฐานสืบมา  วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสังคมไทยเป็นแหล่งคำสั่งสอน  การฝึกอบรมและอำนวยความรู้ทั้งโดยตรงแก่ผู้เข้าบวชเรียนอยู่ในวัด  และโดยอ้อมแก่ทุกคนในชุมชนที่อยู่แวดล้อมวัด  ชุมชนทุกแห่งแม้แต่หมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลต่างก็มีวัดตั้งอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน

          กิจกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของรัฐก็ดี ของชุมชนก็ดี จะมีส่วนประกอบด้านพระพุทธศาสนาเป็นพิธีการ เพื่อเน้นความสำคัญและเสริมคุณค่าทางจิตใจ  แม้แต่กิจกรรมเล็กน้อยจนถึงการประกอบกิจกรรมส่วนตัวของบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า ออกเดินทางไปทำงานจนถึงเข้านอน ก็อาจเคร่งครัดถึงกับนำคำสอนและข้อปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเข้าไปแทรกเป็นส่วนนำสำหรับเตือนสติ กระตุ้นเร้าในทางกุศลหรือเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังปรากฏต่อมาภายหลัง และบางทีเลือนรางเหลือเพียงเป็นการทำตาม ๆ กันมา เป็นเรื่องโชคลาง หรือสักแต่ว่าทำพอเป็นพิธี

          เหตุการณ์ทั้งหลายในช่วงเวลาและวัยต่าง ๆของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย ก็ทำให้มีความสำคัญและดีงามด้วยกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ชีวิตของคนไทยผูกพัน อิงอาศัยกับพระพุทธศาสนาตลอดจนเวลา ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

          สภาพที่กล่าวมานี้ ได้เป็นมาช้านานจนฝังลึกลงในจิตใจและวิถีชีวิตของชาวไทย กลายเป็นเครื่องหล่อหลอมกลั่นกรองนิสัยใจคอของคนไทย ให้มีลักษณะเฉพาะตน ที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย และทำให้พูดด้วยความมั่นใจ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย”

          อย่างไรก็ตาม เมื่อ 100 ปีเศษที่แล้วมานี้ ประเทศไทยได้ถูกคุกคามโดยลัทธิอาณานิคม เป็นเหตุให้ต้องมีความเปลี่ยนแปลงระบบแบบแผนต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก เพื่อเร่งรัดปรับปรุงตัวให้เจริญทัดเทียมที่จะต้านทานป้องกันอำนาจครอบงำของประเทศที่กำลังเที่ยวล่าอาณานิคมอยู่ในเวลานั้น

          เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในที่สุดพร้อมกันนั้นวัฒนธรรมแบบตะวันตกก็หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นตามลำดับ ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่แปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมไทยเดิมยิ่งขึ้นทุกที แม้ว่าเอกราชของประเทศชาติจะได้รับการดำรงรักษาให้รอดพ้นปลอดภัยมาได้ แต่เอกลักษณ์ของสังคมไทยก็ได้ถูกกระทบกระแทกจนสึกกร่อนและเลือนรางลงไปเป็นอันมาก

          เมื่อเวลาผ่านจนถึงยุคปัจจุบัน ความแปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมของตน และความกร่อนเลือนไม่ชัดเจนของเอกลักษณ์ไทย ก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความมั่นใจหรือลังเลที่จะพูดว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย” โดยเฉพาะในด้านการเมือง การปกครอง แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” จะมีผู้ตีความว่าเป็นการบ่งบอกโดยนัยว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะกำหนดตัวตายให้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่กันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นหลักประกันว่าองค์พระประมุขของชาติทรงเป็นศาสนิกแห่งศาสนาเดียวกันกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศพระองค์

          แต่กระนั้นก็ยังมีคนไทยไม่น้อย แม้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชะตากรรมของประเทศก็ยังขาดความมั่นใจ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคำพูดประโยคสั้น ๆ ที่ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” หรือไม่ก็พูดออกมาอย่างอึกอักอ้อมแอ้ม

          ภาวะลังเล ขาดความมั่นใจ และไม่แน่วแน่แข็งที่เริ่มกลายเป็นความขัดแย้งกันนี้ ได้ครอบงำสังคมไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจนกระทั่งในที่สุดความยืนยันตัวเองก็กลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อชาวไทยทั่วประเทศได้ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสต้อนรับพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 มีความจำเพาะตอนนี้ว่า

          “คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ” หลังจากได้ ความมั่นใจ ดุจเป็นพระราชวินิจฉัยจากพระราชดำรัสครั้งนี้แล้ว บุคคลวงการต่าง ๆ พากันมีความกล้าหาญที่จะพูด หรือเขียนให้ชัดแจ้งออกมาว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books