การผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา


ผู้สอน
นาย ฉลองชัย แม้นศิริ
เข้าสู่ระบบเมื่อ มากกว่า 12 ปี ที่แล้ว

ชื่อวิชา
การผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา

รหัสวิชา
474

สถานศึกษา
สถาบันการพลศึกษา

คำอธิบายวิชา
  1. ชื่อโมดูลที่ 4                  เรื่อง การผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา

 

  1. คำอธิบาย

ศึกษาความหมาย ประเภทของสื่อ  การผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา

 

  1. จุดประสงค์
    1. เพื่อให้ผู้รับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ความหมาย ประเภทของสื่อ และหลักการผลิตสื่อ
    2. เพื่อให้ผู้รับการอบรมสามารถผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา

 

  1. โครงสร้าง / หัวข้อ
    1. ความหมายของสื่อการสอน
    2. ประเภทของสื่อการสอน
    3. หลักการผลิตสื่อการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียน
    4. การผลิตหนังสืออ่านประกอบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนที่ 2 เนื้อหา

 

 


 

ชื่อโมดูล  เรื่อง การผลิตสื่อและนวัตกรรมสำหรับการสอนสุขศึกษา

 

บทนำ

                กระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบันจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ  ครู นักเรียน และสื่อการสอนหรือวัสดุอุปกรณ์การสอน  ถ้าพิจารณาว่าครูในปัจจุบันตามสภาพความเป็นจริงไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้บรรลุจุดประสงค์เท่านั้น แต่ครูยังมีหน้าที่อื่นอีกมาก เช่น  เตรียมการสอน (กำหนดจุดประสงค์ในการสอน เลือกและจัดเนื้อหา  เลือกและจัดกิจกรรม  เตรียมอุปกรณ์การสอน เตรียมวิธีวัดผลประเมินผล)  สร้างความสัมพันธ์ในและนอกโรงเรียน ควบคุมนักเรียน ให้บริการวิชาการสังคม เป็นต้น  และยังมีแนวโน้มว่าครูจะต้องมีหน้าที่อื่นๆ เพิ่มเป็นภาระมากขึ้นเรื่อยๆ   เพื่อลดภาระการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครู  เราอาจใช้สื่อการสอนมาช่วยในการเรียนการสอนของครู เช่น  ใช้ภาพ  โทรทัศน์  วิทยุ  เครื่องบันทึกเสียง หนังสือเรียน ใบงาน ใบความรู้  ห้องโสตทัศนวัสดุ  ศูนย์การเรียน  ชุดการเรียน  บทเรียนโปรแกรม เป็นต้น  ซึ่งสื่อเหล่านี้จะช่วยลดภาระของครูลงไปอีกมากและยังทำให้กระบวนการเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

                ในการสอนวิชาสุขศึกษาหรือวิชาใดๆ ก็จำเป็นต้องใช้สื่อการสอนอย่างมากเพราะสื่อช่วยให้การสอนจากเรื่องที่ยากๆ ให้เป็นเรื่องที่ง่ายเข้า จากเรื่องที่เป็นนามธรรมเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่สอนแล้วต้องใช้สื่อการสอนประกอบ  การศึกษาแต่เดิมส่วนใหญ่ใช้การบอกความรู้เป็นสื่อการสอน วิธีนี้นักเรียนใช้การฟัง แล้วคิดตาม คนที่มีสติปัญญาฉลาดก็จำได้ คิดตามได้แต่ไม่ใช่กับเด็กทุกคน  ฉะนั้นด้วยวิธีการฟังนี้ไม่สามารถทำให้นักเรียนบรรลุการเรียนรู้ได้ทุกคน  ยิ่งเด็กเล็กๆ ยิ่งต้องการสื่อการสอนที่มากและหลายประเภท เด็กโตอาจมีน้อยประเภทลงไปเพราะสามารถเข้าใจเรียนรู้ด้วยตนเองได้พอสมควร เด็กบางคนต้องการสื่อมากๆ ซ้ำๆ กัน บางคนใช้เพียงสื่อเดียวก็เกิดการเรียนรู้แล้ว  ครูที่ดีคือครูที่สอนดี ครูที่สอนดีคือครูที่สามารถทำให้นักเรียนทุกคนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ได้เต็มตามศักยภาพของนักเรียน ครูที่ดีที่สุดจึงเป็นครูที่มีสื่อการสอนที่เหมาะสมกับความถนัดของนักเรียน

 

เนื้อหา

  1. ความหมายของสื่อการสอน

                สื่อ (Media) หมายถึง ตัวกลางที่ช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว ข่าวสาร ความรู้ เหตุการณ์ แนวคิด สถานการณ์ ฯลฯ ที่ผู้ส่งสารต้องการไปยังผู้รับสาร (สุมาลี ชัยเจริญ, 2545)

                สื่อการสอน หมายถึง เครื่องช่วยในการเรียนรู้ ซึ่งครูและนักเรียนเป็นผู้ใช้เพื่อช่วยให้การสอนและการเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (Brown and Others, 1973 อ้างถึงใน สุมาลี  ชัยเจริญ)

                สื่อการสอน  หมายถึง  ตัวกลางหรือสิ่งต่างๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือ และเทคนิควิธีการ  รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  เกิดการพัฒนา และสามารถนำความรู้ไปที่รับนั้นไปใช้ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ (นิคม ทาแดง และคณะ, 2545)

                ดังนั้น  สื่อการสอน (Instructional Media) หมายถึง ตัวกลางหรือสิ่งต่างๆ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคนิควิธีการ  รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ข้อเท็จจริง แนวคิด ตลอดจน เจตคติ จากแหล่งความรู้ หรือผู้สอนไปสู่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. ประเภทของสื่อการสอน

นักเทคโนโลยีการศึกษา ได้แบ่งประเภทของสื่อการสอน ตามลักษณะรูปร่างดังนี้ (Kinder,

1965)

  1. สื่อประเภทรูปภาพ ได้แก่  รูปภาพต่างๆ ทั้งภาพที่ไม่ต้องการใช้เครื่องฉายและภาพที่ต้องการ  เครื่องฉาย ได้แก่ รูปภาพทั่วไป  สไลด์ ฟิล์มสตริป ภาพยนตร์ ฯลฯ
  2. สื่อประเภทเครื่องฉาย ได้แก่  แผ่นเสียง  เทปบันทึกเสียง วิทยุ ระบบขยายเสียง เครื่องฉายสไลด์  เครื่องฉายภาพยนตร์ ฯลฯ
  3. สื่อประเภทวัสดุกราฟฟิก  ได้แก่ แผนภูมิ  แผนสถิติ  แผนภาพ ภาพสเก็ต  ภาพโฆษณา การ์ตูน แผนที่ ลูกโลก ฯลฯ
  4. สื่อประเภทแหล่งชุมชนเพื่อการศึกษา ได้กา  การศึกษานอกสถานที่  วิทยากร  แหล่งชุมชนต่างๆ
  5. สื่อประเภทวัสดุราคาถูก ได้แก่  จุลสาร  รูปภาพ  หนังสือพิมพ์ เศษวัสดุ ฯลฯ
  6. สื่อประเภทอื่นๆ

6.1

6.2  วัสดุและเทคนิคการแสดง เช่น  สาธิต  นาฏการ ฯลฯ

6.3 วัสดุสามมิติได้แก่ของจริง หุ่นจำลอง

  1. สื่อประเภทใหม่ๆ ได้แก่ โทรทัศน์  ห้องปฏิบัติการภาษา บทเรียนสำเร็จรูป  คอมพิวเตอร์  สื่อบนเครือข่าย  และระบบการเรียนการสอนต่างๆ
  1. หลักการผลิตสื่อการสอน

หลักการผลิตสื่อการสอนต่าง ๆ ได้มีผู้คิดค้นหลักการหรือระบบการสอนขึ้นหลายหลักการ ดังนี้

ระบบการผลิตสื่อการสอนก็มีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ (กรองกาญจน์  อรุณรัตน์, 2536)

  1. การจัดเตรียมทรัพยากรและวางแผนการผลิต
  2. การดำเนินการผลิต
  3. การใช้สื่อการสอน
  4. การประเมินผลย้อนกลับเพื่อปรับปรุง

ดังภาพประกอบ

 

 

 

จัดเตรียม

ทรัพยากรและ

วางแผนการผลิต

ทำการใช้สื่อการ

สอนที่ผลิตขึ้นและ

ปรับปรุงแก้ไข

ดำเนินการผลิต

สื่อการสอน

 

 

 

 

 

 

 


 

ภาพประกอบ   องค์ประกอบหลักของการจัดระบบการผลิตสื่อการสอน

 

  1.  การผลิตหนังสืออ่านประกอบ

หนังสืออ่านเพิ่มเติม (Supplementary Reader ) แต่เดิมเรียกว่า หนังสืออ่านประกอบ         

( วัชราภรณ์ วัตรสุข ,2541: 46)  หมายถึงหนังสือที่มีสาระอิงหลักสูตร สำหรับให้นักเรียนอ่านเพิ่มเติมด้วยตนเองตามความเหมาะสมของวัยและความสามารถในการอ่านของบุคคล(ถวัลย์ มาศจรัส , 2538: 20) หนังสืออ่านเพิ่มเติมไม่ใช่หนังสือแบบเรียนบังคับใช้ แต่ถือเป็นสื่อการเรียนการสอนชนิดหนึ่งที่จัดทำขึ้น เพื่อช่วยขยายประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนให้กว้างขึ้นซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของบันลือ พฤกษะวัน (2521: 58) ที่กล่าวไว้ว่าเป็นวัสดุการอ่านประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเรียน แต่เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่เด็กสามารถเลือกอ่านได้ทั้งในและนอกเวลาเรียน นักเรียนอาจใช้ได้ในหลายลักษณะ เช่น อ่านเพื่อค้นคว้าหาคำตอบ อ่านเพื่อขยายประสบการณ์ให้ลึกซึ้งเฉพาะเรื่องอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

จึงพอสรุปได้ว่า หนังสืออ่านเพิ่มเติมเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นเสริมเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตร มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของนักเรียน

ส่วนหลักการการสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมนั้น จินตนา ใบกาซูยี (2538: 52-65) กล่าวถึงขั้นตอนการเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติมไว้ดังนี้

  1. กำหนดจุดประสงค์

ในการเขียนใด ๆ ผู้เขียนต้องตั้งจุดประสงค์เพื่อต้องการว่าจะเขียนอะไร ต้องการให้

ผู้อ่านได้รับความรู้ ความคิด ทักษะ และคุณประโยชน์อย่างไร การกำหนดจุดประสงค์ไว้ก่อนการเขียน

เป็นการกำหนดทิศทางไม่ให้เขียนหลงทาง หรือเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ต้องการจะเขียนในเบื้องต้น จุดประสงค์จึงเป็นเสมือนเครื่องกำกับผู้เขียนผู้เขียน อีกทางหนึ่ง

2.  กำหนดระดับผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย

ผู้เขียนต้องรู้ว่าผู้อ่านของตนคือใคร มีคุณสมบัติ มีวัยวุฒิ ระดับสติปัญญา ความรู้และ

ประสบการณ์เดิมขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะเขียนหนังสืออ่านเพิ่มเติม ที่ต้องการใช้ประกอบการเรียนการสอน คุณสมบัติของผู้ใช้หนังสือ จะต้องนำมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการวางแผนการเขียนและกำหนดขอบเขตการเขียนของตน โดยทั่วไปแล้วการแบ่งกลุ่มผู้อ่าน  สามารถแบ่งได้ดังนี้

2.1 กลุ่มนักวิชาการ ครู อาจารย์ และปัญญาชน ซึ่งมีความสามารถในการอ่านได้สูงมาก

2.2 กลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน

2.3 กลุ่มผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้ที่มีอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไปสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

3. กำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่อง

ในการกำหนดเนื้อหาหรือหัวเรื่อง ให้เขียนในสิ่งที่ตนเองรู้แจ้ง และเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงพึงหลีกเลี่ยงการเขียนในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ไม่ชำนาญ เพราะอาจเกิดปัญหาจนการเขียนต้องหยุดชะงัก

ลงได้ แหล่งที่จะคัดเลือกเนื้อหาสำหรับนำมาใช้ในการเขียน ได้แก่

3.1 หลักสูตรสถานศึกษา

3.2 สิ่งแวดล้อมในสังคม และสภาพท้องถิ่น

3.3 ความสนใจและความต้องการของเด็กตามวัย

4. กำหนดชื่อเรื่อง

ผู้เขียนควรกำหนดชื่อเรื่องหนังสือที่ตนจะเขียนไว้ก่อนล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้เพราะ

การกำหนดชื่อเรื่องนั้นจะเกี่ยวพันโยงไปถึงหัวข้อเรื่องที่จะเขียนและขอบข่ายเนื้อหาที่กำหนดไว้ในโครงสร้าง หลักการที่สำคัญ คือ ชื่อเรื่องควรสอดคล้องกับหัวเรื่อง และโครงสร้างเนื้อหาเพื่อว่าเมื่อผู้อ่านเห็นชื่อเรื่องก็สามารถคาดคะเนได้ว่า เนื้อหาภายในเป็นเรื่องอะไร

5. กำหนดโครงสร้างเนื้อหา

โครงสร้างเนื้อหา คือ การกำหนดขอบเขตเนื้อหาของหนังสือที่จะเขียนให้มีระบบตามลำดับความคิดหรือตามวัตถุประสงค์ของการเขียนหลักการและทฤษฎีหรือความรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ ที่ผู้เขียนต้องการจะนำเสนอให้ผู้อ่าน อ่านอย่างเข้าใจที่สุด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ขอบเขตของเนื้อหาที่ผู้เขียนจะนำเสนอให้ผู้อ่านนั้นจะต้องมีการจัดระบบเนื้อหาไว้อย่างรัดกุมเพื่อจะได้ครอบคลุมขอบข่ายเนื้อหาที่จะเขียนทั้งหมดตามจุดประสงค์ที่วางเอาไว้ ในการกำหนดโครงสร้างเนื้อหาของหนังสือที่จะเขียน จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางวิชาการเป็นรากฐานสำคัญที่สุด ศาสตร์ความรู้วิชาสาขาใดมักจะมีโครงสร้างเนื้อหาเฉพาะตัว ถ้าผู้เขียนเสนอสาระไปตามลำดับขั้นตอนอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้อ่านเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่อ่านได้ง่าย

6. กำหนดแนวการเขียน

แนวการเขียนหรือบางทีเรียกว่าท่วงทำนองการเขียนโวหาร หรือการเสนอเนื้อหาของ

การเขียนข้อความต่าง ๆ นั้น หมายถึง วิธีการเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อหาเรื่อง จนผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจได้ดีถึงสาระที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อในข้อความนั้น ๆ แนวการเขียนมีหลายแบบ การเลือกแนวการเขียนให้เหมาะสมกับเนื้อหาของข้อความ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลกระทบและมีอิทธิพลต่อความเข้าใจเรื่องที่อ่าน หรือความรู้และความคิดของผู้อ่านเป็นอันมาก

7. การทำรูปเล่ม

การทำรูปเล่ม  หมายถึง ลักษณะรูปร่างและขนาดกระดาษและขนาดตัวหนังสือหรือ

ตัวพิมพ์ลักษณะและขนาดของรูปเล่มควรมีขนาดพอเหมาะหยิบถือได้สะดวก ความหนาของหนังสือขึ้นอยู่กับระดับอายุของผู้อ่าน หนังสือที่มีเนื้อเรื่องยาวมากควรแบ่งออกเป็นหลายเล่มโดยจบเป็นตอน ๆ แต่ละตอนจบในตัวเอง ขนาดรูปเล่มถือเอาความกะทัดรัดเปิดอ่านง่ายเป็นเกณฑ์

ดังนั้นสรุปได้ว่า ในการสร้างหนังสือที่ดี มีคุณค่าสำหรับเด็กนั้นควรมีโครงเรื่องเหมาะสมสนองความต้องการและความสนใจของเด็ก ใช้ภาษาเข้าใจง่าย มีรูปภาพ ตัวอักษร ตลอดจนรูปเล่มและชื่อเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ น่าอ่านชวนติดตาม ตลอดจนจูงใจให้เด็กรักการอ่านยิ่งขึ้น

 

 

บรรณานุกรม

 

จินตนา ใบกาซูยี. (2538). เทคนิคการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ถวัลย์ มาศจรัส. (2538). เทคนิคและตัวอย่างการเขียนหนังสือส่งเสริมการอ่านและหนังสืออ่านเพิ่มเติม.

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิตรใหม่.

นิคม ทาแดง, กอบกุล ปราบประชา  และอำนวย เดชศรีชัย. (2545). เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ชุด

ฝึกอบรมครู : ประมวลสาระ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.

บันลือ พฤกษะวัน. (2521). วรรณกรรมกับเด็ก. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

วัชราภรณ์ วัตรสุข. (2537). การใช้หนังสือเรียนเล่มเล็กเพื่อเสริมการเรียนภาษาไทย. วิทยานิพนธ์ศึกษา

ศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุมาลี ชัยเจริญ. (2545). E-learning. http://edtech.kku.ac.th/%7Esumalee/medua/html

Kinder, James S. (1965). Audio Visual Material and Technique (2nd ed.). New York:

American.


ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books