สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

โรคมะเร็งในเด็ก คำถามทั่วไป


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์

แก้ไขปรับปรุง มกราคม 2553


เด็กเป็นโรคมะเร็งได้ด้วยหรือ?
เด็กสามารถเป็นโรคมะเร็งได้  โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่เป็นชนิดแตกต่างกับโรคมะเร็งในผู้ใหญ่  แต่มีส่วนน้อยเป็นชนิดเดียวกับในผู้ใหญ่ โรคมะเร็งในเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กทุกวัย บางชนิดเป็นส่วนน้อย อาจเกิดตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์


เด็กเป็นโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง?
โรคมะเร็งในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รองลงไปตามลำดับ คือ โรคมะเร็ง/เนื้องอกสมอง  โรคมะเร็งลูกตาชนิด เรติโนบลาสโตมา โรคมะเร็งเนื้อเยื่อประสาทชนิด นิวโรบลาสโตมา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งไตชนิดวิมทูเมอร์


โรคมะเร็งในเด็กเกิดได้อย่างไร?
โรคมะเร็งในเด็ก มักเกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปรกติ แต่มีปัจจัยร่วม หรือ ปัจจัยเสริม เช่น อาจเป็นสิ่งแวดล้อม การติดเชื้อ ยาฆ่าแมลง สารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม การบริโภคของมารดาขณะตั้งครรภ์ และการที่เด็กได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูง


รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคมะเร็ง?
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในเด็ก โดยมีวิธีวินิจฉัยเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ กล่าวคือ จากอาการของเด็ก การตรวจร่างกายพบก้อนเนื้อ หรือ แผล การตรวจเลือด การตรวจทางเอ็กซเรย์ แต่ที่ได้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือ แผล ไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา คือ การย้อมสีชิ้นเนื้อ ด้วยสารเคมีต่างๆ และตรวจชิ้นเนื้อนั้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ เรียกว่า พยาธิแพทย์  ทั้งนี้เพราะเซลล์ของโรคมะเร็งจะมีลักษณะเซลล์ และ การติดสี ต่างจากเซลล์ปรกติ และ แตกต่างกันในโรคมะเร็งแต่ละชนิด


โรคมะเร็งรักษาได้อย่างไร?
วิธีรักษาโรคมะเร็งในเด็ก มี 3 วิธีสำคัญ เช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ คือ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ รังสีรักษา การจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับ ระยะของโรคมะเร็ง  ชนิดของโรคมะเร็ง เป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใด อายุของเด็ก และสุขภาพร่างกายของเด็ก


โรคมะเร็งเด็กเป็นแล้วรักษาหายไหม?
โอกาสรักษาได้หายขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ระยะของโรคมะเร็ง  ชนิดของโรคมะเร็ง อายุของเด็ก และสุขภาพของเด็ก


ระยะของโรคมะเร็งในเด็กเหมือนในผู้ใหญ่ไหม?
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งในเด็ก คล้ายคลึงกับในโรคมะเร็งผู้ใหญ่ ยกเว้นในโรคมะเร็งเด็กบางชนิด  โดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1  โรคเป็นเฉพาะที่ ยังไม่ลุกลาม แพร่กระจาย การรักษาให้โอกาสหายขาดได้สูง ประมาณ ร้อยละ 70-80  โรคระยะที่ 2 มีการลุกลามแล้ว แต่มักยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง  โอกาสหายขาดประมาณ ร้อยละ 50-60   โรคระยะที่ 3 โรคลุกลามมาก และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง โอกาสหายขาด ประมาณ ร้อยละ 20-30 โรคในระยะที่ 4 โรคลุกลามมากกว่าในระยะที่ 3 และ/หรือมีการแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไขกระดูก ปอด ตับ กระดูก และสมอง และมักไม่มีโอกาสรักษาหาย


ถ้าสงสัยว่าลูกเป็นมะเร็งจะทำอย่างไร?
ถ้าสงสัยว่าลูกเป็นโรคมะเร็ง  ควรนำเด็กพบหมอเด็ก และปรึกษาหมอถึงความกังวลเรื่องเป็นโรคมะเร็ง  โดยทั่วไป การรักษาโรคมะเร็งในเด็ก มักให้การรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งเด็ก ซึ่งมัก ประจำอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่  เช่น โรงเรียนแพทย์  โรงพยาบาลเด็ก และ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่



ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books