สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

โรคมะเร็งกระดูกในเด็ก


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์

แก้ไขปรับปรุง มกราคม 2553


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็กมีหลายชนิด  แต่ละชนิดมีความรุนแรงของโรคต่างกัน  ซึ่งชนิดที่พบได้บ่อย คือ ชนิด ออสติโอซาร์โคมา (osteosarcoma) รองลงไป คือ ชนิด อีวิง หรือ ยูวิง ซาร์โคมา (Ewing’s sarcoma)


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กเกิดในเด็กอายุเท่าไร?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็กเกิดได้ในเด็กทุกอายุ แต่พบบ่อยกว่าในเด็กโต และในช่วงวัยรุ่น พบเกิดในเด็กชายบ่อยกว่าในเด็กหญิง


โรคมะเร็งกระดูกในเด็ก เกิดกับกระดูกอะไรบ้าง?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็ก เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้น แต่ที่พบเกิดได้บ่อย คือ กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง กระดูกซี่โครง และกระดูกเชิงกราน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็ง เช่น บางชนิดพบเกิดบ่อยที่กระดูกเชิงกราน  บางชนิดพบเกิดบ่อยที่กระดูกต้นขา 


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กเกิดได้อย่างไร?
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระดูกในเด็ก  แต่จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า อาจเกิดจากมีความผิดปรกติจากพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอดบางชนิด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเซลล์กระดูก


โรคมะเร็งกระดูกในเด็ก มีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคมะเร็งกระดูกในเด็ก คือ การคลำได้ก้อนเนื้อผิดปรกติในตำแหน่งที่เป็นโรค ก้อนเนื้อมักโตเร็ว  และอาจร่วมกับมีอาการเจ็บกระดูก หรือ กระดูกหักตรงส่วนที่เกิดโรค แต่การมีกระดูกหัก หรือ การได้รับอุบัติเหตุไม่ใช่สาเหตุของโรค เป็นเพียงอาการที่เกิดร่วมกันเท่านั้น


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งกระดูก?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้จากการตรวจร่างกาย การตรวจกระดูกด้วยเอกซเรย์ธรรมดา และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือด้วยเครื่องตรวจเอมอาร์ไอ และการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูว่าใช่โรคมะเร็งหรือไม่ และเป็นโรคมะเร็งชนิดใด 


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็กมีการจัดแบ่งระยะโรคหลากหลาย และขึ้นกับชนิดของเซล์มะเร็ง แต่โดยทั่วไป มักแบ่งตามความรุนแรงของโรคและวิธีรักษาเป็น 3 ระยะ คือ  ระยะโรคยังอยู่เฉพาะจุดเริ่มเป็นโรค ยังไม่ลุกลามหรือลุกลามน้อย  ระยะโรคยังอยู่เฉพาะที่แต่ลุกลามมาก  และระยะมีโรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือทางกระแสเลือด/โลหิต ซึ่งมักแพร่กระจายเข้าไขกระดูก  ปอด และกระดูกชิ้นอื่น


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กรักษาอย่างไร?
การรักษาหลักในโรคมะเร็งกระดูกในเด็ก คือ การผ่าตัดและยาเคมีบำบัด  ส่วนรังสีรักษาจะใช้ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ในการรักษาที่ชัดเจนเท่านั้น ในส่วนการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก และยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในการศึกษา


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กรักษาหายไหม?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็ก จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง แต่ยังมีโอกาสรักษาได้หายขาด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค  ตำแหน่งที่เกิดโรคว่า ผ่าตัดได้หรือไม่  ชนิดเซลล์มะเร็ง  การตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด และสุขภาพของเด็ก


มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกระดูกในเด็กไหม?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง  จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งกระดูกในเด็ก


มีวิธีตรวจให้พบโรคมะเร็งกระดูกในเด็กตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นโรคไหม?
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งกระดูกในเด็กตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นโรค ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสังเกตของผู้ปกครอง เมื่อพบเด็กมีก้อนเนื้อผิดปรกติ หรือ มีอาการบวมในบริเวณต่างๆผิดปรกติ อาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือ อาการเลวลงภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรนำเด็กพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยว่าความผิดปรกตินั้นเกิดจากโรคอะไร


โรคมะเร็งกระดูกในเด็กติดต่อไหม?
โรคมะเร็งกระดูกในเด็กไม่ใช่โรคติดต่อ และโดยทั่วไป ไม่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดต่อของลูกคนอื่นๆ หรือ คนในครอบครัว



ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books