สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

โรคเนื้องอก/มะเร็งในสมอง


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์


โรคเนื้องอกสมอง ต่างจากโรคมะเร็งสมองอย่างไร?
เนื้องอกสมอง เป็นเนื้องอกธรรมดา  เซลล์เป็นชนิดไม่ร้ายแรง แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองและ/หรือกระแสเลือด/โลหิตไม่ได้ ไม่ลุกลามเข้าเนื้อสมองข้างเคียง แต่เมื่อก้อนเนื้อโตมาก อาจกด/ เบียด/ทับเนื้อสมองข้างเคียงได้  นอกจากนั้น ยังมีการเจริญเติบโตช้า อย่างไรก็ตาม  เนื้องอกสมอง จัดว่ามีความรุนแรงโรคมากกว่าเนื้องอกบริเวณอื่น เพราะสมองเป็นอวัยวะสำคัญ เกิดอะไรขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็มีผลถึงการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ความจำ และ สายตา  ส่วนเนื้องอกมะเร็ง  ก้อนเนื้อจะโตเร็ว ลุกลามเข้าเนื้อสมองข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าน้ำไขสันหลัง  เยื่อหุ้มสมอง และเข้ากระแสเลือด/โลหิตได้ 

  อนึ่ง ทั้งเนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง ยังแบ่งเป็นอีกหลากหลายชนิด  ซึ่งแต่ละชนิด มีความรุนแรงโรคต่างกัน


โรคเนื้องอก/มะเร็งสมองในเด็ก เกิดได้อย่างไร? ติดต่อกันไหม?
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเนื้องอก/มะเร็งสมอง  ยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า น่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน  ที่สำคัญ คือ การมีความผิดปรกติทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด ส่วนน้อยเป็นชนิดถ่ายทอด  ส่วนปัจจัยเสริมอื่น อาจมีหลายปัจจัย เช่น จากการบริโภคอาหารบางชนิดที่มีสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงของมารดาขณะตั้งครรภ์ หรือ มารดาได้รับสารเคมีบางชนิดซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงจากสิ่งแวดล้อมใน ขณะตั้งครรภ์

  โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง ไม่ใช่โรคติดต่อ  เมื่อลูกคนหนึ่งในครอบครัว เป็นโรคฯ ไม่ได้หมายความว่าลูกคนอื่นต้องเป็นโรคฯไปด้วย  แต่ถ้าเป็นเนื้องอก/มะเร็งชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม(พบได้น้อยมาก)  ลูกคนอื่นเพียงแต่มีโอกาสเป็นโรคฯได้สูงกว่าเด็กจากครอบครัวปรกติเท่านั้น ไม่ถึงขั้นจะต้องเป็นโรคฯไปด้วยทุกคน


โรคเนื้องอก/มะเร็งสมองในเด็ก ป้องกันได้ไหม?
โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงได้บ้าง จากการบริโภคแต่อาหารมีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งของมารดาระหว่างตั้งครรภ์


เนื่องอกสมอง กับมะเร็งสมอง มีอาการเหมือนกันไหม? อาการเป็นอย่างไร?
เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง มีอาการเหมือนกัน แยกกันไม่ได้ด้วยอาการ แยกกันได้ จากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา  อาการของโรคเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง  มักขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น แขน/ขา อ่อนแรง/ไม่มีแรง  เดินเซ  ทรงตัวไม่ได้  ตาเห็นภาพไม่ชัด เห็นเป็นเงา หรือ เห็นเป็นภาพซ้อน  ปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง และ อาการชัก


รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นเนื้องอก/มะเร็งสมอง?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่า เด็กเป็นโรคเนื้องอก/มะเร็งสมองจากการสอบถามประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย  หลังจากนั้น มีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ของสมอง พบก้อนเนื้อผิดปรกติ  แต่วิธีวินิจฉัยให้ได้ผลแน่นอนที่สุด คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในสมองตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา เพื่อบอกว่า เป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้องอกมะเร็ง และเป็นชนิดใด


เนื้องอก/มะเร็งสมองในเด็กรักษาอย่างไร?
การรักษาหลักของโรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง คือ การผ่าตัด  ในโรคเนื้องอกธรรมดา ถ้าผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด จะไม่มีการรักษาวิธีการอื่นเพิ่มเติม แต่ถ้าผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ไม่หมด อาจใช้การเฝ้าสังเกตอาการโดยไม่มีการรักษาวิธีอื่นเพิ่มเติม รอจนเมื่อเด็กมีอาการ จึงให้การรักษาเพิ่มเติม โดยอาจเป็นการผ่าตัดซ้ำเพียงวิธีการเดียว หรือร่วมกับรังสีรักษา หรือ ให้รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว

  แต่ถ้าเป็นโรคมะเร็งสมอง  ภายหลังการผ่าตัด  จะมีการรักษาต่อเนื่องเสมอ  คือ การให้รังสีรักษา และในบางชนิดของโรคมะเร็ง อาจมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย


เนื้องอก/มะเร็งสมองในเด็กรักษาหายไหม?
โรคเนื้องอกสมอง ถ้าสามารถผ่าตักเอาก้อนเนื้ออกได้หมด โรคมักหายขาด โอกาสกลับเป็นซ้ำอีกมีได้น้อย แต่ถ้าเป็นโรคมะเร็ง โอกาสหายขาดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น  ขนาดของก้อนเนื้อ  ชนิดของเซลล์มะเร็ง  การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมดหรือไม่  ตำแหน่งที่เกิดโรคมะเร็งเป็นตำแหน่งที่ทำผ่าตัดได้หรือไม่  และเป็นโรคมะเร็งชนิดที่เซลล์ตอบสนองได้ดีหรือไม่ทั้งต่อรังสีรักษา  และ/หรือ ยาเคมีบำบัด



ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books