สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์


   อาหาร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต  โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วย  รวมทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง 

ผู้ป่วยโรคมะเร็งทีมีสุขภาพแข็งแรง  มีโอกาสได้รับการรักษาโรคมะเร็งครบถ้วนตามแผนการรักษาของแพทย์สูงกว่าผู้ ป่วยโรคมะเร็งที่มีสุขภาพอ่อนแอมาก   จึงมีโอกาสได้รับการรักษาเพื่อการหายขาดสูง  ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ผลดีกว่าผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ   ดังนั้นอัตราอยู่รอดจากโรคมะเร็งจึงสูงกว่า  ซึ่งการได้มาของสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ ที่สำคัญ คือ การบริโภคอาหารมีประโยชน์ให้ครบทั้ง ๕ หมู่ทุกๆวัน  และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ


อาหารสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง คือ อาหารประเภทไหน?
อาหารสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง คือ  อาหารสำคัญ  ๕ หมู่  เช่นเดียวกับอาหารสำคัญ ๕ หมู่ของคนทั่วไป ซึ่งได้แก่  อาหารโปรตีน   อาหารคาร์โบไฮเดรต  อาหารไขมัน  วิตามิน และเกลือแร่  นอกจากอาหารแล้ว น้ำดื่มยังเป็นอีกสิ่งจำเป็นสำคัญ  แต่ที่ควรงดหรือเลิก คือ การสูบบุหรี่  ส่วนที่ควรจำกัดการบริโภคให้น้อยที่สุด คือ สุรา และเครื่องดื่มกาเฟอีน   และที่แพทย์โรคมะเร็งแนะนำไม่ควรบริโภคโดยเฉพาะในช่วงระหว่างการรักษา คือ อาหารมังสวิรัติชนิดเคร่งครัด และอาหาร แมกโครไบโอติก(macrobiotic)


ทำไมอาหารโปรตีนจึงสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง?
อาหาร โปรตีน สำคัญมากต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง  เพราะเป็นอาหารให้พลังงาน  ซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายสึกหรอ  และเป็นอาหารสำคัญ เพื่อเสริมสร้างไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อจำเป็นมากสำหรับการรักษาโรค มะเร็ง  เพราะไขกระดูกเป็นเนื้อเยื่อสร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ทั้งเม็ดเลือดแดง  เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  เพื่อความแข็งแรงกับร่างกาย  ให้ภูมิต้านทานคุ้มกันการติดเชื้อ และเพิ่มการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด และรังสีรักษา   

แต่คนทั่วไป มีความเชื่อว่า อาหารโปรตีนเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง   จึงทำให้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งมักไม่กล้าบริโภคอาหารโปรตีน ซึ่งเป็นความเชื้อที่ผิด  เพราะการศึกษาทางการแพทย์ให้ผลยืนยันว่า  ผู้ป่วยที่บริโภคอาหารครบทั้ง๕ หมู่ซึ่งรวมทั้งโปรตีน  มีอัตรารอดจากโรคมะเร็งสูงกว่าผู้ป่วยจำกัดอาหารแบบเคร่งครัดอย่างชัดเจน  ทั้งนี้โดยทั่วไปแพทย์แนะนำ ควรได้รับอาหารโปรตีนประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ ของพลังงานอาหารทังหมดที่ได้รับต่อวัน

อาหารโปรตีนมีได้ทั้งจากพืช และสัตว์  โดย แหล่งโปรตีนสำคัญจากพืช คือ ถั่วต่างๆโดยเฉพาะถั่วเหลือง  ส่วนจากสัตว์ได้แก่   เนื้อสัตว์  ปลา  อาหารทะเล  ตับ  ไข่ และ นม

อย่างไรก็ตามทางการแพทย์พบว่า ในเนื้อแดง (เนื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) มีสารบางชนิดและมีไขมันชนิดอาจก่อโรคมะเร็ง และโรคของหลอดเลือด ที่สำคัญ คือโรคหลอดเลือดหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง  ดังนั้นสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำให้  จำกัดอาหารจากเนื้อแดง  และเนื้อสัตว์แปรรูป (คุณค่าอาหารลดลง และมักมีสารก่อมะเร็งจากกระบวนการผลิต  เช่น  ไส้กรอก  ปลาร้า  และแหนม)   และยังแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งบริโภคโปรตีนทั้งจากพืช และสัตว์ร่วมไปด้วยกันเสมอ


ทำไมอาหารคาร์โบไฮเดรตจึงสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง?
อาหารคาร์โบไฮเดรต (อาหารแป้ง และน้ำตาล)  มีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะเป็น อาหารหลักในการให้พลังงาน  ซึ่งร่างกายนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ต่างๆ  แต่เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงาน และมีน้ำตาลสูง จึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และ โรคเบาหวานได้ง่ายเมื่อบริโภคปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง และออกกำลังกายได้น้อย แพทย์จึงแนะนำให้จำกัดการบริโภคอาหารหวานจัดเสมอ  ทั้งนี้โดยให้ได้พลังงานจากอาหารคาร์โบไฮเดรตประมาณร้อยละ ๔๕-๖๕ ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน และยังแนะนำให้พยายามบริโภคอาหารแป้งที่ได้จากธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย หรือไม่ผ่านการขัดสี กล่าวคือ ชนิดเต็มเมล็ด (whole grain) เพราะมีคุณค่าทางอาหารในกลุ่มวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูงกว่า


ทำไมอาหารไขมันจึงสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง?
อาหาร ไขมัน สำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะเป็นอาหารอีกชนิดที่ให้พลังงาน  เป็นตัวช่วยการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่สำคัญหลายชนิด   และเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนหลายชนิด แต่ไขมันมีทั้งไขมันชนิดอิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันไม่ดี มักเป็นไขมันจากสัตว์  ก่อภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ  และหลอดเลือดสมอง  ส่วนไขมันชนิดดี คือ ไขมันชนิดไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันส่วนใหญ่จากพืช  ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้จำกัดการบริโภคไขมันทุกประเภท ไม่ควรเกินประมาณร้อยละ ๓๐ ของปริมาณพลังงานจากอาหารทั้งหมดต่อวัน และควรบริโภคไขมันจากพืชมากกว่าไขมันจากสัตว์


ทำไมวิตามิน เกลือแร่จึงสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง?
วิตามิน และเกลือแร่สำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะเป็นอาหารช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายสึกหรอ  เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ และฮอร์โมนต่างๆ   ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานคุ้มกันโรค  เป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ  จึงอาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งบางชนิด  เช่น  โรคมะเร็งในส่วนศีรษะ/ลำคอ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  และไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน (เพราะเป็นอาหารที่ไม่ให้พลังงาน) ซึ่ง โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ  โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง   และโรคมะเร็งที่พบบ่อยหลายชนิด เช่น  เต้านม  และ เยื่อบุโพรงมดลูก   นอกจากนั้น  ผัก และผลไม้ ยังมีใยอาหารสูง ช่วยลดอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี  จึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต

วิตามินและเกลือแร่ มีมากในผัก และผลไม้ทุกชนิด  รวมทั้งธัญพืชชนิดขัดสีน้อย และชนิดเต็มเมล็ด  และถึงแม้เป็นอาหารสำคัญมาก  แต่ร่างกายต้องการเพียงในปริมาณเล็กน้อย  ดังนั้นเมื่อบริโภคผัก ผลไม้ได้สูงในทุกๆวัน  จึงไม่จำเป็นต้องบริโภควิตามิน เกลือแร่  เสริมอาหาร     

การบริโภควิตามิน/เกลือแร่ จากการเสริมอาหารในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง อาจก่อโทษ หรือ ผลข้างเคียงได้ จากมีการสะสมในร่างกายสูงเกินไป โดยผลข้างเคียงขึ้นกับชนิดของวิตามิน  เกลือแร่   ซึ่งที่พบได้ คือ ภาวะตับอักเสบ  ไตวาย  นิ่วในไต  อาการคลื่นไส้/อาเจียน และ ปวดมวลท้อง

ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้ว แพทย์จึงแนะนำการบริโภคผัก ผลไม้ตามฤดูกาล (คุณภาพอาหารสูงกว่าเพราะสด และยังมีราคาถูกกว่า)ในปริมาณสูงเป็นประจำ  ในทุกมื้ออาหาร รวมทั้งเป็นอาหารว่าง หรือ ของว่าง  และเมื่อจะซื้อวิตามิน และ/หรือ เกลือแร่เสริมอาหารบริโภคเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนเสมอ


ทำไมต้องดื่มน้ำมากๆเมื่อเป็นโรคมะเร็ง
น้ำดื่มในที่นี้ หมายถึง น้ำดื่มสะอาด  ไม่รวมน้ำจากอาหาร  เช่น  แกงจืด  และน้ำจากเครื่องดื่มต่างๆ  เช่น  นม หรือ น้ำผลไม้

น้ำดื่มสะอาดที่พอเพียงมีความจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง  เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (ตัวแห้ง  ปากแห้ง  ตาแห้ง  ตาโหล  เหนื่อยง่าย  อ่อนเพลีย  เป็นลมบ่อย  ท้องผูก  และอาจรู้สึกมีไข้ต่ำๆ )  ช่วยให้ความสดชื่นกับเซลล์  ช่วยให้เซลล์ทำงานได้มีประสิทธิภาพ  ฟื้นตัวได้เร็ว   ช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว หรือ ของเสียต่างๆออกจากร่างกาย ร่างกายจึงสดชื่น   และช่วยลดภาวะท้องผูก   ซึ่งถ้าไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม (ให้ดื่มน้ำตามแพทย์โรคนั้นๆแนะนำ)   ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ ๖-๘ แก้ว


อาหารมังสวิรัติ และอาหารแมกโครไบโอติก มีผลต่อโรคมะเร็งอย่างไร?
อาหารมังสวิรัติชนิดเคร่งครัด (ไม่บริโภคอาหาร/ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ทุกชนิด) และอาหารแมกโครไบโอติก  มีคุณค่าทางอาหารต่ำกว่าอาหารมีประโยชน์ทั้ง ๕หมู่   ซึ่งในคนปรกติการบริโภคอาหารในกลุ่มนี้  ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้   แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง  อาหารกลุ่มนี้ ก่อให้เกิดภาวะขาดอาหาร อาจถึงขั้นรุนแรงจนส่งผลกระทบถึงไขกระดูก  และสุขภาพ/ความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ  จนส่งผลให้ต้องชะลอ หรือ หยุดการรักษาด้วย  การผ่าตัด  เคมีบำบัด และ/หรือ  รังสีรักษา  ดังนั้นจึงเป็นประเภทอาหารที่แพทย์โรคมะเร็งไม่แนะนำในช่วงเตรียมตัวก่อน การรักษา และในช่วงระหว่างการรักษา  แต่ภายหลังเมื่อการรักษาต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว  แพทย์มักไม่ขัดข้องที่ผู้ป่วยจะบริโภคอาหารมังสวิรัติชนิดไม่เคร่งครัด กล่าวคือ ยังบริโภค ปลา  นม และไข่ได้


ช่วงเตรียมตัวก่อนรักษาโรคมะเร็งควรบริโภคอาหารอย่างไร?
ในช่วงก่อนการรักษา  ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องเตรียมพร้อมร่างกาย เพื่อให้สามารถรองรับการรักษาต่างๆได้ครบถ้วนตามแพทย์แนะนำ  ไม่ควรบริโภคอาหารมังสวิรัติชนิดเคร่งครัด  หรือ แมกโครไบโอติก  แต่ควรบริโภคอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง ๕ หมู่  ดื่มน้ำสะอาด  และออกกำลังกายตามสุขภาพ  ควรงดบุหรี่  สุรา  และเครื่องดื่มกาเฟอีน  ดังได้กล่าวแล้ว


ช่วงระหว่างการรักษาโรคมะเร็งควรบริโภคอาหารอย่างไร?
อาหารช่วงระหว่างการรักษา   เช่นเดียวกับในช่วงก่อนการรักษา  รวมทั้งในเรื่องของน้ำดื่มสะอาด   บุหรี่  สุรา และเครื่องดื่มกาเฟอีน  แต่ในช่วงนี้   ผู้ป่วยมักมีผลข้างเคียง เช่น  เบื่ออาหาร  คลื่นไส้/อาเจียน  ท้องเสีย หรือ เจ็บปาก/คอ  ดังนั้น แพทย์จึงมักแนะนำอาหารอ่อน ชนิดย่อยง่าย รสจืด  แต่ยังคงต้องครบทั้งห้าหมู่  และควรบริโภคในแต่ละมื้อในปริมาณน้อยๆ   แต่เพิ่มจำนวนครั้งของมื้ออาหารให้มากขึ้น อาจถึง ๖-๗ มื้อต่อวัน   ทั้งนี้ขึ้นกับว่า  บริโภคในแต่ละมื้อได้มาก หรือ น้อย


เมื่ออยู่รอดจากโรคมะเร็งแล้วควรบริโภคอาหารอย่างไร?
อาหาร ช่วงอยู่รอดจากโรคมะเร็งภายหลังครบการรักษาแล้ว และตลอดชีวิต ที่สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี  ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ  เช่น  โรคอ้วน  โรคเบาหวาน  โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคของหลอดเลือด   ช่วยลดผลข้างเคียงระยะยาวจากการรักษา  และอาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ   โรคมะเร็งลุกลามแพร่กระจาย  และโรคมะเร็งชนิดที่สอง   ซึ่งคำแนะนำได้แก่   

อนึ่ง  ผู้ป่วยโรคมะเร็งช่วงระยะอยู่รอดนี้  ภายหลังการฟื้นตัวจากการรักษา กลับเป็นปรกติแล้ว   เมื่อผู้ป่วยประสงค์จะบริโภคอาหารมังสวิรัติ หรือ แมกโครไบโอติก ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน  ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำเป็นการบริโภคอาหารมังสวิรัติ ชนิดไม่เคร่งครัด


สรุป

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควรต้องรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี   เพื่อให้ได้รับการรักษาได้ครบถ้วน  เพื่อผลการรักษาที่ดี   เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง  เพื่อป้องกันหรือควบคุมโรคเรื้อรังอื่นๆ  และอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ และ โรคมะเร็งชนิดที่สอง



ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books