สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสี


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์


ผิวหนังบริเวณฉายรังสี/แสง หมายความว่าอย่างไร?
ผิวหนังบริเวณฉายรังสี/แสง  หมายถึง ผิวหนังเฉพาะส่วน  เฉพาะตำแหน่งที่รังสีผ่านเข้า และผ่านออก เป็นทางผ่านของรังสี เพื่อเข้าสู่ก้อนมะเร็ง  ทั้งนี้ผิวหนังในส่วนอื่นๆจะไม่ได้รับรังสี  (ผิวหนังส่วนไม่เป็นทางผ่านของรังสี )  ซึ่งผู้ป่วยดูแลได้ตามปรกติ  แต่ผิวหนังส่วนที่เป็นทางผ่านของรังสี ควรมีการดูแลเป็นพิเศษ


ทราบได้อย่างไรว่า  รังสี/แสงผ่านตรงผิวหนังส่วนไหน?
ผู้ป่วยทราบได้ว่า  ผิวหนังบริเวณไหนเป็นบริเวณที่ฉายรังสี/แสง  ซึ่งคือ ตำแหน่งที่แพทย์ขีดเส้น หรือทำเครื่องหมายไว้  หรือ ตำแหน่งที่ใส่หน้ากากเมื่อฉายรังสีด้วยเทคนิคที่ใส่หน้ากาก  หรือตรงตำแหน่งที่เป็นโรคมะเร็ง  เช่น  เมื่อเป็นมะเร็งส่วนศีรษะ/ลำคอ  ผิวหนังส่วนที่เป็นตำแหน่งที่รังสีผ่าน คือ ศีรษะ/ลำคอ  เป็นต้น


ทำไมต้องดูแลผิวหนังที่เป็นทางผ่านของรังสี/แสงเป็นพิเศษ?
ผิวหนัง (ส่วนที่ได้รับรังสี/แสง)  เมื่อได้รับรังสี จะเกิดการเปลี่ยนแปลง  คือ  แห้งกว่าปรกติ  และไว/แพ้ต่อสารต่างๆได้ง่าย เช่น  ครีมบำรุงผิว  สบู่ และ แชมพู  และเพราะ เมื่อได้รับรังสี สูงขึ้นถึงประมาณ ๔๐๐๐ หน่วย  เซลล์ผิวหนังจะเริ่มตกสะเก็ด  แห้งตึง  คัน  ดำคล้ำ  ซึ่งในระยะนี้  ถ้าดูแลไม่ถูกต้อง   ผิวหนังจะแตกเป็นแผลสด เหมือนแผลน้ำร้อนลวก หรือ แผลไฟไหม้  ซึ่งก่ออาการเจ็บ  มีเลือดออก หรือ ติดเชื้อได้ง่าย   และแผลแตกนี้  หายช้ากว่าแผลปรกติมาก  อาจต้องใช้เวลารักษานาน ๑-๒ เดือน  และถ้าดูแลไม่ถูกต้องจะกลายเป็นแผลเรื้อรัง  รักษาไม่หาย

ความรุนแรงของ แผลแตกจากรังสี  ขึ้นกับ 

-เนื้อที่เกิดแผล (เมื่อแผลกว้าง  แผลหายช้ากว่า) 

-อายุ(ผู้สูงอายุแผลหายช้ากว่า)   

-แผลเกิดกับผิวหนังในส่วนอับชื้น หรือ ถูกขัดสี หรือ อยู่ในร่มผ้า เช่น ใต้ราวนม รอบๆก้น หรือ บริเวณปกเสื้อ(แผลหายช้ากว่า) 

-ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย  เช่น  โรคเบาหวาน  และโรคความดันโลหิตสูง(แผลหายช้ากว่า)   

-ปริมาณรังสีที่ผิวหนังได้รับ (เมื่อได้รับรังสีปริมาณสูง  แผลหายช้ากว่า)   

-และเมื่อได้รับเคมีบำบัดร่วมด้วย (แผลหายช้ากว่า)

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบัน มีเทคนิคการฉายรังสีหลากหลายเทคนิค ซึ่งจะกระจายทางเข้าของรังสี  สู่ก้อนมะเร็งหลากหลายทิศทาง  ทำให้ผิวหนังแต่ละจุดได้รับปริมาณรังสีต่ำลง  ไม่จำเป็นต้องดูแลผิวหนังอย่างเคร่งครัด  ดังนั้นในการดูแลผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสี ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์  พยาบาล ด้านรังสีรักษาจะได้ประโยชน์ที่สุด


จะดูแลผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสี/แสงอย่างไรในระหว่างการฉายแสง?
การดูแลผิวหนัง (ส่วนที่ฉายรังสี/ฉายแสง )ในระหว่างฉายรังสี  ที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด คือ การปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลรังสีรักษาแนะนำอย่างเคร่งครัด  ซึ่งโดยทั่วไป คือ

-ถ้ามีการตีเส้น หรือ มีเครื่องหมายใดๆบนผิวหนังต้องพยายามไม่ให้ลบเลือน ที่สำคัญคือ การลบเลือนจากการถูกน้ำ  ต้องระมัดระวังให้ตำแหน่งนั้นแห้งอยู่เสมอ

-ระมัดระวังการเสียดสีผิวหนังส่วนนั้น เพราะจะเกิดแผลแตกได้ง่าย  เช่น  ปกเสื้อ  เอวกระโปรง/กางเกง  และขอบกางเกงใน

-อย่าให้ผิวส่วนนั้นถูกแสงแดดจัดโดยตรง 

-ถ้าเป็นผิวหนังส่วน  ร่มผ้า  หรือใต้รอยย่น  ใต้รอยพับ(เช่น ใต้เต้านม/ราวนม)  พยายามให้เปียกชื้นน้อยที่สุด

-ถ้าแพทย์อนุญาตให้ผิวหนังส่วนนั้นโดนน้ำได้/อาบน้ำได้  ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปรกติหรือเพียงพออุ่น  ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด เพราะผิวจะระคาย  แห้ง  คันง่าย   ควรเลือกใช้สบู่ แชมพู ชนิดอ่อนที่สุด(ของเด็กอ่อน)  ไม่อาบ ถู  ขัดผิวหนังส่วนนั้นอย่างรุนแรง  เมื่อต้องการให้แห้ง เพียงซับเบาๆด้วยผ้าสะอาดอ่อนนุ่ม อย่าเช็ด/ถู รุนแรง  อย่าใช้เป่าด้วยลมร้อน และควรสอบถามแพทย์ถึงเรื่องการใช้  โลชัน  เครื่องสำอางต่างๆ  รวมทั้งน้ำหอม  ต่อผิวหนังส่วนนั้น (โดยทั่วไป แพทย์ ไม่แนะนำให้ใช้)  เพราะจะแพ้ได้ง่ายดังได้กล่าวแล้ว

-ถ้าแพทย์  ไม่อนุญาตให้ผิวส่วนนั้นโดนนำ  ควรใช้การเช็ดตัวแทนการอาบน้ำ แต่ไม่ต้องเช็ดตัวในผิวหนังส่วนได้รับรังสี

-เมื่อสีผิวส่วนได้รับรังสีเริ่มเปลี่ยนสีคล้ำลง  ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งเรื่องการดูแล  และการอาบน้ำ

-เมื่อเกิดแผลแตก ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาล/นักรังสีที่ควบคุมการฉายรังสี   เพื่อการรักษาก่อนการลุกลามเป็นแผลกว้าง หรือ แผลลึก  และควรต้องดูแลแผลตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด


จะดูแลผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสี/แสงอย่างไรเมื่อฉายแสงครบแล้ว?
เมื่อ ฉายรังสี/แสงครบแล้ว  แพทย์ยังแนะนำการดูแลผิวหนังส่วนได้รับรังสี ต่อไปเช่นเดียวกับช่วงระหว่างฉายรังสี  จนกว่าผิวส่วนนั้นจะฟื้นตัวกลับเป็นปรกติ  อย่าถูกน้ำ หรือใช้เครื่องสำอางใดๆก่อนแพทย์อนุญาต

ผิวหนังส่วนได้รับรังสี  ถึงแม้จะครบรังสี ไปแล้ว  แต่ผิวหนังส่วนนี้จะมีความไวต่อสิ่ง/สารต่างๆมากกว่าปรกติ  จะแพ้สิ่งต่างได้ง่าย  ดังนั้น เมื่อจะใช้เครื่องสำอางบนผิวหนังส่วนนี้ ควรต้องทดสอบ  ก่อนใช้(ใช้เพียงเล็กน้อย ในบริเวณเล็กๆ)   เมื่อไม่มีอาการแพ้ จึงใช้ได้ 

อาการแพ้ที่อาจพบได้  ได้แก่  ผิวหนังส่วนนั้นจะ  แดง  บวม  เจ็บ  ขึ้นตุ่มพอง/ผื่น  และคัน และจะติดเชื้อได้ง่าย   ซึ่งเมื่อมีอาการแพ้สารต่างๆกับผิวหนังส่วนนั้นควรรีบพบแพทย์รังสีรักษา  หรือ แพทย์ทั่วไปโดยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยได้รับรังสีในผิวหนังส่วนนี้

ผิวหนังส่วนที่เคยได้รับรังสี จะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นควรระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะจากแผลเกา (ควรตัดเล็บสั้นเสมอ)  ดังนั้นถึงแม้เกิดแผลตื้นเพียงเล็กน้อย เช่น รอยขีด ข่วน  ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือ น้ำยาเบตาดีน เสมอจนกว่าแผลจะหาย  แต่ถ้าเกิดแผลกว้าง หรือ ลึก ควรรีบพบแพทย์รังสีรักษา

อาบน้ำด้วยอุณหภูมิปรกติ หรือ พออุ่น และใช้ สบู่ แชมพู แต่ชนิดอ่อนๆ ตลอดไป เพราะดังกล่าวแล้วว่า  ผิวหนังส่วนนี้จะไว/แพ้/ระคายเคืองได้ง่าย  และควรดูแลรักษาความสะอาดผิวส่วนนี้เสมอเพราะดังกล่าวแล้วว่า  ผิวส่วนนี้ติดเชื้อได้ง่าย  และ

ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ถูกต้อง ตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลรังสีรักษาเสมอในการดูแลผิวส่วนที่เคยได้รับรังสี  รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์/พยาบาลรังสีรักษาเสมอเมื่อสงสัย หรือ มีปัญหาในการดูแลผิวส่วนนี้



ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2566)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)
GotoKnow
ClassStart Books